Abstract:
การวิจัยเรื่องพัฒนาการเครือข่ายอำนาจท้องถิ่น หลังการเปลี่ยน 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 กรณีศึกษาจังหวัดราชบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการก่อรูปและการก้าวขึ้นสู่อำนาจ การสร้าง การสืบทอดอำนาจและการเปลี่ยนแปลงเครือข่ายของกลุ่มอำนาจท้องถิ่นจังหวัดราชบุรี หลังการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 วิธีการศึกษาใช้การวิจัยเชิงคุณภาพแนวประวัติศาสตร์ ผลการศึกษาพบว่า แต่เดิมเครือข่ายอำนาจท้องถิ่นจังหวัดราชบุรีมี 4 เครือข่าย คือ เครือข่ายอำนาจจอมพล ป.พิบูลสงคราม เครือข่ายอำนาจจอมพลถนอมและจอมพลประภาส เครือข่ายอำนาจหลวงสิทธิเทพการ และเครือข่ายอำนาจของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในโครงสร้างท้องถิ่นจังหวัดราชบุรี กล่าวคือ เครือข่ายอำนาจจอมพลถนอมและจอมพลประภาส ได้สลายตัวแลละเสื่อมอำนาจลง เกิดการก่อรูปเครือข่ายอำนาจของนายทวิช กลิ่นประทุม และเครือข่ายอำนาจของนายจรูญ วัฒนากรขึ้น ส่วนเครือข่ายของพรรคอำนาจประชาธิปัตย์นั้นได้สืบทอดอำนาจผ่านแกนนำรุ่นก่อตั้ง และการศึกษาในครั้งนี้ยังพบว่าเครือข่ายอำนาจของหลวงสิทธิเทพการก็มีการปรับเปลี่ยนและสืบทอดอำนาจผ่านนายวินิจ วังตาล สำหรับเครือข่ายจอมพล ป พิบูลสงครามได้เสื่อมอำนาจและสลายตัวลง สำหรับการสร้างเครือข่ายของกลุ่มอำนาจท้องถิ่นในจังหวัดราชบุรีนั้นมี 3 ลักษณะ คือ (1) การสร้างเครือข่ายโดยการเปลี่ยนทรัพยากรภายในเครือข่าย (2) การสร้างเครือข่ายโดยการแลกเปลี่ยนทรัพยากรกับเครือข่ายอื่น และ (3) การสร้างเครือข่ายโดยการผลิตซ้ำอุดมการณ์ ต่อมาหลังปี พ.ศ. 2539 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจท้องถิ่นจังหวัดราชบุรีขึ้นอีกครั้ง กล่าวคือ เครือข่ายนายทวิช กลิ่นประทุม มีการสืบทอดมายังนายสรอรรถ กลิ่นประทุม เครือข่ายพรรคประชาธิปัตย์สืบทอดมายังแกนนำรุ่นต่อมา สำหรับเครือข่ายนายวินิจ วังตาลนั้นได้ล่มสลายลง นอกจากนั้นแล้วยังมีเครือข่ายอำนาจใหม่ที่แตกตัวขึ้นมาอีก 3 เครือข่าย คือ เครือข่ายพ่อค้าฟาร์มสุกร เครือข่ายผู้รับเหมาท้องถิ่น และเครือข่ายตลาดศรีเมือง สำหรับปัจจัยที่นำไปสู่การแตกตัวของเครือข่ายอำนาจขึ้นในสังคมท้องถิ่นจังหวัดราชบุรีมี 3 สาเหตุ คือ (1) การเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดราชบุรีอย่างก้าวกระโดดหลังปี พ.ศ. 2531 (2) การจัดสรรทรัพยากรไม่ลงตัวของเครือข่ายเก่า (3) การเบื่อหน่ายการเมืองรูปแบบเก่าของสังคมท้องถิ่นราชบุรี