Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวัฒนธรรมทางการเมืองของชุมชนในตำบลเนินฆ้อช่วงก่อนการปกครองท้องที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2436 – 2457 ในช่วงการปกครองท้องที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2457 – 2537 และในช่วงการปกครองท้องถิ่นตั้งแต่ พ.ศ. 2537 – 2552 งานวิจัยฉบับนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ในลักษณะกรณีศึกษาโดยอาศัยข้อมูลจากเอกสาร และการสัมภาษณ์ ผลจากการศึกษาพบว่า วัฒนธรรมทางการเมืองของตำบลเนินฆ้อ แบ่งออกเป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ คือ วัฒนธรรมทางการเมืองในช่วงแรกของตำบลเนินฆ้อมีลักษณะเป็นวัฒนธรรมแบบผู้นำอาวุโสบนฐานคุณธรรม วัฒนธรรมทางการเมืองแบบนี้สืบทอด ผลิตซ้ำ และมีพลวัตมาตั้งแต่ก่อนการเข้ามาของการปกครองท้องที่จนถึงการเข้ามาของการปกครองส่วนท้องถิ่น พลวัตของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบผู้นำอาวุโสบนฐานคุณธรรม เริ่มต้นตั้งแต่ระบบนายบ้านบนฐานของการปกครองตนเองของชุมชน มาจนถึงรูปแบบการปกครองท้องที่ในรูปแบบกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นทางการ โดยยังคงนายบ้านไว้เป็นผู้นำธรรมชาติ และในท้ายที่สุดก็พัฒนามาเป็นระบบกำนันผู้ใหญ่บ้านบนฐานคุณธรรม
วัฒนธรรมทางการเมืองของตำบลเนินฆ้อในช่วงที่สองเกิดขึ้นเมื่อวัฒนธรรมทางการเมืองแบบผู้นำอาวุโสบนฐานคุณธรรมได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดเจนจากการขยายตัวเข้ามาของกลไกรัฐ ราชการ และเศรษฐกิจทุนนิยมภายนอก เนื่องจากระบบทั้งสองได้นำกลไกใหม่เข้าไปแทนที่กลไกของระบบเครือญาติ และวัดที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน การแทนที่กลไกสมัยใหม่ดังกล่าวได้ลดบทบาทของระบบเครือญาติและวัด ซึ่งเป็นฐานที่มีผลต่อการลดบทบาทของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบผู้นำอาวุโสบนฐานคุณธรรม ดังนั้น จึงได้มีการก่อรูปของวัฒนธรรมทางการเมืองของชุมชนในรูปแบบใหม่ขึ้นมาคือ แนวคิดแบบอุปถัมภ์และแนวคิดแบบทุนนิยม วัฒนธรรมทางการเมืองของตำบลเนินฆ้อ ในช่วงที่สองมีลักษณะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเนื่องจากเป็นการต่อสู้ระหว่างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่และแบบเก่า คือ วัฒนธรรมทางการเมืองแบบผู้นำอาวุโสบนฐานคุณธรรมด้านหนึ่ง กับวัฒนธรรมทางการเมืองแบบอุปถัมภ์และแนวคิดแบบทุนนิยมอีกด้านหนึ่ง การที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากระบบอุปถัมภ์ยังไม่สามารถฝังตัวอยู่ตำบลเนินฆ้อจนตกผลึก กลายเป็นวิถีชีวิตได้ เพราะผู้นำทางการเมืองภายนอกที่เป็นผู้อุปถัมภ์ไม่ได้แสดงบทบาทเป็นผู้อุปถัมภ์ที่เข้มแข็งจนสามารถเข้าแทนที่วัฒนธรรมชุมชนที่มีอยู่เดิมได้ ในขณะเดียวกันแนวความคิดแบบหัวการค้าซึ่งเป็นหน่ออ่อนของวัฒนธรรมแบบทุนนิยมแต่ก็ยังไม่สามารถเติบโตจนไปครอบงำวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเก่าได้ เนื่องจากวัฒนธรรมใหม่ได้เข้าไปขัดแย้งและทำลายกลไกหลักของวัฒนธรรมชุมชนโดยตรง คือ วัดและร้านค้าชุมชน ดังนั้น จึงได้เกิดการตอบโต้ของวัฒนธรรมทางการเมืองเก่าและนำมาสู่การดำรงอยู่ของความขัดแย้งของวัฒนธรรมเก่าและวัฒนธรรมใหม่