Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเรื่องวิถีชีวิตและกระบวนการประมงของชาวประมง ในหมู่บ้านประมงหาดวอนนภา ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โดยทำการศึกษาครอบคลุมถึงวิถีชีวิต กระบวนการทำประมง ปัจจัยการผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต พิธีกรรม ความเชื่อ การเจริญเติบโตของครอบครัวและการสืบทอดอาชีพประมง และการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของหมู่บ้าน จากการศึกษาพบว่าหมู่บ้านหาดวอนนภา มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จากการเข้ามาตั้งรกรากของครอบครัวชาวบ้านเพียง ๒-๓ ครอบครัว ต่อมาจำนวนครอบครัวได้เพิ่มมากขึ้นจากการแต่งงาน โดยความสัมพันธ์เครือญาติเป็นไปอย่างแนบแน่นเกื้อกูลกัน เกิดระบบเครือญาติจากทางสายเลือกและจากการแต่งงานกัน ทำประมงเป็นอาชีพหลักทั้งเลี้ยงตัวเอง ยังชีพและค้าขาย ทั้งสดและแปรรูป รองลงมาคือ ค้าขายและรับจ้าง การทำประมงใช้ระบบการผลิตแบบเสรี มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ โดยมีกระบวนการผลิตที่คล้ายคลึงกัน จะแตกต่างกันเรื่องระยะเวลาการออกทะเลเท่านั้น โดยเริ่มจากสำรวจบริเวณที่มีสัตว์ทะเลอยู่แล้วจึงวางอวนแล้วจึงแบ่งส่วนเพื่อบริโภคและขายต่อไป สำหรับปัจจัยการผลิตประกอบด้วยทรัพยากรทางทะเล แรงงานจากเดิมเป็นสมาชิกในครอบครัวเป็นระบบการว่าจ้าง ทุนจากที่เป็นเรือ ลอบ อวน ปัจจุบันก็มีการเพาะพันธ์สัตว์น้ำ รวมทั้งแปรรูปเป็นอาหารแห้งเก็บไว้บริโภคและจำหน่าย โดยมีหัวหน้าครัวเรือนทำหน้าที่จัดการการผลิต ซึ่งอาหารทะเลที่ผลิตได้ก็จะนำมาบริโภคในครัวเรือน ซึ่งอาหารอื่นๆ จะอาศัยจากสภาพแวดล้อมและร้านค้าที่อยู่ใกล้บ้าน ด้านเทคโนโลยีการผลิตพัฒนาจากแหและเรือใบมาใช้เครื่องมือที่สามารถจับสัตว์น้ำได้ครั้งละมากขึ้น และใช้เครื่องมือเรือแทนแรงลม หรือใช้การจ้างแรงงานจากภายนอก ถึงแม้ว่าการผลิตจะพัฒนาไปแต่ความเชื่อเรื่องแม่ยานางยังคงอยู่อย่างเหนียวแน่น โดยต้องประกอบพิธีกรรมเช่นไหว้แม่ย่านางก่อนที่จะออกเรือทุกครั้ง ขณะที่ได้มีการจัดกลุ่มเกษตรประมงหมู่บ้านบางแสนล่าง (หมู่บ้านวอนนภา) ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่จัดหาตลาดและแปรรูปสินค้า รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและแผนการรักษาระบบนิเวศทางทะเล เพื่อนำทรัพยากรนั้นมาแปลงเป็นรายได้หมุนเวียนต่อไป เป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สิน การเปลี่ยนอาชีพหรือย้ายถิ่นฐานและเพื่ออนุรักษ์อาชีพประมงซึ่งถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สั่งสมมานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ไม่ให้หายไปจากหมู่บ้านแห่งนี้