Abstract:
สหาภาพยุโรปเป็นองค์กรระดับภูมิภาคต้นแบบที่มีความก้าวหน้า และประสบความสำเร็จมากที่สุดในการกำหนดนโยบาย และมาตรการทางกฎหมายในเรื่องของการจ้างแรงงานมาใช้บังคับภายในภูมิภาคของตน สหภาพยุโรปมีลักษณะองค์กรเหนือรัฐ(Supranational) ที่ประเทศสมาชิกตกลงยินยอมถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้กับองค์กรกลางของประชาคม โดยอำนาจพื้นฐานของประชาคมมีกฎหมายออกมารองรับในรูปแบบของสนธิสัญญา รวมถึงมาตรการทางกฎหมายในรูปแบบของกำหนดข้อบังคับ (Directives) ระเบียบ (Regulations) บทบาทในการริเริ่มออกนโยบายและมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างแรงงานของสหภาพยุโรป มิได้จำกัดอยู่เฉพาะรัฐกับองค์กรกลางของสหภาพยุโรปเท่านั้น สหภาพยุโรปได้กำหนดรูปแบบที่ส่งเสริมความร่วมมือมากขึ้นโดยให้ความสำคัญกับหุ้นส่วนทางสังคมในการกำหนดทิศทาง รูปแบบที่เหมาะสมผ่านการเจรจาทางสังคม (Social Dialogue) เรียกว่า "Open Method Coordination" บทความนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลกระทบของการขยายสมาชิกภาพต่อมาตรการทางกฎหมายในขอบเขตจำกัดเฉพาะเรื่องการจ้างแรงงานในสหภาพยุโรป โดยให้ความสำคัญกับประเด็นของการขยายสมาชิกภาพในช่วง ค.ศ.2004 และ ค.ศ.2007 ที่รับประเทศในยุโรปกลาง และยุโรปตะวันออกเข้ามาเป็นสมาชิกบนพื้นฐานของความแตกต่างเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในของประเทศสมาชิกใหม่อันส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ดังนั้น การปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในการกำหนดนโยบายและมาตรการทางกฎหมายที่มีความยืดหยุ่นและสร้างความมั่นคงในตลาดแรงงานภายในภูมิภาคจึงมีความจำเป็นเพื่อกำจัดข้อจำกัดต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมให้เกิดการจ้างแรงงานในระดับสูง การฝึกทักษะในการทำงานให้กับแรงงาน รวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อลดอัตราการตกงานในระยะยาว และตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานภายในภูมิภาคได้อย่างแท้จริง