Abstract:
ปัจจุบันการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างกว้างขวางในกลุ่มเกษตรกร การขาดความรู้ความเข้าใจและการใช้อย่างไม่ถูกต้องทำให้เสี่ยงต่อการได้รับพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าสู่ร่างกายการศึกษาที่ผ่านมา มุ่งเน้นที่กลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก ยังไม่มีการศึกษาในกลุ่มผู้บริโภค งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินระดับสารพิษตกค้างในผักที่ผู้บริโภคนิยมรับประทาน เจตคติและพฤติกรรมการรับประทานผักผลไม้ของกลุ่มผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสและผลตรวจสุขภาพ โดยสุ่มตรวจตัวอย่างผักและผลไม้ในเขตอำเภอเมืองชลบุรีและอำเภอศรีราชาตามท้องตลาด จำนวน 200 ตัวอย่าง ทดสอบหาสารพิษตกค้างในกลุ่ม Organophosphate และ Carbamate โดยใช้ชุดทดสอบ GT-Pesticide residual kit พบว่า สารพิษตกค้างในผักประเภท กะเพรา คะน้า กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาวและผักกาดขาวในปริมาณสูงที่สุด ตามลำดับ อาสาสมัคร ช่วงอายุ 18-60 ปี สัญชาติไทย จำนวน 130 คน ทำแบบสอบถามเพื่อแยกกลุ่มที่มีพฤติกรรมความเสี่ยงสูง และความเสี่ยงปานกลาง เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลทั่วไปและผลตรวจประเมินสุขภาพเบื้องต้น และผลตรวจเลือดของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่ม มีความคล้ายคลึงกัน ไม่พบความแตกต่างของ อายุ เพศ ค่าดัชนีมวลกาย ความดันโลหิต ระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส ฮีมาโตคริต
จำนวนและขนาดของเม็ดเลือด แต่พบแนวโน้มความสัมพันธ์ที่แตกต่างกับค่าฮีโมโกลบิน และระดับโคเลสเตอรอลของทั้งสองกลุ่ม เมื่อเปรียบเทียบระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสที่จุดตัด 2000 U/L พบ แนวโน้มสัมพันธ์กับความดันโลหิต และ MCV แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.05)