Abstract:
ผู้วิจัยทำการศึกษาความหลากหลายของชนิดฟองน้ำทะเลบริเวณหมู่เกาะชุมพร จังหวัดชุมพร ระหว่างวันที่ 23-27 กุมภาพันธ์ 2558 รวมทั้งสิ้น 9 สถานีสำรวจ ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างในพื้นที่สำรวจโดยการดำน้ำในเวลากลางวัน บันทึกภาพใต้น้ำ เก็บรักษาตัวอย่างด้วยเอธานอล 75% แล้วนำตัวอย่างมาทำการจำแนกชนิดที่ห้องปฏิบัติการอนุกรมวิธานสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จากการศึกษาสามารถรวบรวมตัวอย่างและข้อมูลฟองน้ำทะเลได้ทั้งหมด 142 ข้อมูลและตัวอย่างที่นำมาทำการจำแนกชนิดเป็นหลักฐานอ้างอิง 73 ตัวอย่างและตัวอย่างฟองน้ำที่ส่งต่อยอดในการศึกษาทางเคมีและจุลชีววิทยาอีก 46 ตัวอย่าง พบฟองน้ำทะลจำแนกชนิดได้เบื้องต้น จำนวน 48 ชนิด จาก 33 สกุล 25 วงศ์ 15 อันดับ ฟองน้ำที่พบเป็นครั้งแรกในน่านน้ำไทยจำนวน 1 ชนิด ได้แก่ ฟองน้ำกิ่งสีดำ, Jaspis cf. stellifera (Carter, 1879) นอกจากนี้ พบฟองน้ำทะเลที่ยังไม่เคยพบในพื้นที่หมู่เกาะชุมพร 6 ชนิด ได้แก่ ฟองน้ำตับไก่, Plakortis communis Muricy, 2011, ฟองน้ำลูกกอล์ฟหนาม, Craniella abracadabra de Laubenfels, 1954, ฟองน้ำหนังสีดำลาย, Chondrosia reticulata (Carter, 1886), ฟองน้ำเคลือบส้ม, Dragmacidon australe (Bergquist, 1970), ฟองน้ำเคลือบใสส้ม, Mycale (Carmia) sp. “orange” และฟองน้ำหนามสีน้ำตาล, Callyspongia (Toxochalina) pseudofibrosa (Desqueyroux-Faúndez, 1984) ฟองน้ำทะเลที่พบเป็นชนิดเด่นและพบแพร่กระจายมากที่สุดคือ ฟองน้ำท่อพุ่มสีแดง, Oceanapia sagittaria (Sollas, 1888) และฟองน้ำเคลือบสีฟ้า, Gelliodes petrosioides Dendy, 1905 รองลงมาคือ ฟองน้ำสีน้ำตาลม่วง, Petrosia (Petrosia) hoeksemai de Voogd & van Soest, 2002; ฟองน้ำครก, Petrosia (Petrosia) lignosa; ฟองน้ำยืดหยุ่นสีดำ, Cacospongia sp. “black” และฟองน้ำเปลี่ยนสีสีเหลือง, Pseudoceratina sp. “yellow” รูปทรงการเจริญเติบโตของฟองน้ำทะเลที่พบเป็นชนิดเด่นเป็นฟองน้ำที่มีรูปทรงการเจริญเติบโตเป็นแบบเคลือบและมีความหลากหลาย 47% ของชนิดฟองน้ำที่พบทั้งหมด กลุ่มของฟองน้ำที่พบมากที่สุดคือ Order Haplosclerida (18 ชนิด) รองลงมาคือ Order Poecilosclerida (5 ชนิด) สถานีส้ารวจที่พบฟองน้ำหลากหลายชนิดมากที่สุดคือ SAK58 (เกาะสาก ทิศตะวันตก) พบฟองน้ำทะเล 20 ชนิด รองลงมาคือ สถานี NGAMN58 (เกาะง่ามน้อย ทิศตะวันตก) พบฟองน้ำทะเล 19 ชนิด ฟองน้ำที่พบส่วนมากนี้เป็นฟองน้ำที่พบทั่วไปตลอดแนวชายฝั่งทะเลในอ่าวไทยและทะเลจีนใต้