Abstract:
งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาความต้านทานการแทรกซึมคลอไรด์แบบเร่ง และกำลังอัดของคอนกรีตที่ผสมตะกรันเตาถลุงเหล็กบด เถ้าลอย และผงหินปูน โดยแบ่งเป็นคอนกรีตที่ใช้วัสดุประสานสองชนิดและคอนกรีตที่ใช้วัสดุประสานสามชนิด โดยคอนกรีตที่ใช้วัสดุประสานสองชนิด ได้แก่ คอนกรีตที่ใช้ตะกรันเตาถลุงเหล็กบดแทนที่วัสดุประสาน ร้อยละ 30 40 50 และ 70 คอนกรีตที่ใช้เถ้าลอยแทนที่วัสดุประสานร้อยละ 30 และ 50 ส่วนคอนกรีตที่ใช้วัสดุประสานสามชนิด ได้แก่ คอนกรีตที่ใช้ตะกรันเตาถลุงเหล็กบดแทนที่วัสดุประสานร้อยละ 30 และ 50 ร่วมกับผงหินปูนแทนที่ร้อยละ 5 10 และ 15 และคอนกรีตที่ใช้เถ้าลอยแทนที่วัสดุประสานร้อยละ 30 และ 50 ร่วมกับผงหินปูนแทนที่ร้อยละ 5 และ 10 ใช้อัตราส่วนน้ำต่อวัสดุประสาน 0.40 และ 0.50 ทำการทดสอบการแทรกซึมคลอไรด์แบบเร่งของคอนกรีตที่อายุ 28 และ 56 วัน และทดสอบกำลังอัดของคอนกรีตที่อายุ 28 วัน
จากผลการศึกษาพบว่า สำหรับคอนกรีตที่ใช้วัสดุประสานสองชนิด ที่อัตราส่วนน้ำต่อวัสดุประสาน 0.40 คอนกรีตที่ใช้ตะกรันเตาถลุงเหล็กบทดแทนที่วัสดุประสานร้อยละ 70 มีการแทรกซึมคลอไรด์แบบเร่งต่ำสุด แต่ที่อัตราส่วนน้ำต่อวัสดุประสาน 0.50 คอนกรีตที่ใช้เถ้าลอยแทนที่วัสดุประสานร้อยละ 50 มีการแทรกซึมคลอไรด์แบบเร่งต่ำที่สุด เมื่อพิจารณาคอนกรีตที่ใช้ตะกรันเตาถลุงเหล็กบดแทนที่วัสดุประสานและคอนกรีตที่ใช้เถ้าลอยแทนที่วัสดุประสาน ที่การแทนที่วัสดุประสานเท่ากัน พบว่า คอนกรีตที่ใช้เถ้าลอยแทนที่วัสดุประสานมีการแทรกซึมคลอไรด์แบบเร่งต่ำกว่า สำหรับคอนกรีตที่ใช้วัสดุประสานสามชนิด พบว่า คอนกรีตที่ใช้ตะกรันเตาถลุงเหล็กบดแทนที่วัสดุประสานร้อยละ 50 ร่วมกับผงหินปูนแทนที่ร้อยละ 5-15 มีการแทรกซึมคลอไรด์แบบเร่งต่ำที่สุด ทั้งที่อัตราส่วนน้ำต่อวัสดุประสาน 0.40 และ 0.50 สุดท้ายเมื่อพิจารณาระหว่างการแทรกซึมคลอไรด์แบบเร่งและกำลังอัด พบว่า ทั้งคอนกรีตที่ใช้วัสดุประสานสองชนิดและสามชนิดมีกำลังอัดสูงและมีการแทรกซึมคลอไรด์ต่ำกว่าคอนกรีตที่ใช้ปูนซีเมนต์ล้วน คอนกรีตที่ใช้ตะกรันเตาถลุงเหล็กบดแทนที่วัสดุประสานร้อยละ 50 มีกำลังอัดสูง แต่มีการแทรกซึมคลอไรด์ต่ำ ส่วนคอนกรีตที่ใช้ตะกรันเตาถลุงเหล็กบดแทนที่วัสดุประานร้อยละ 50 ร่วมกับผงหินปูนแทนที่ร้อยละ 5 และ 15 มีการแทรกซึมคลอไรด์ต่ำแต่ก็มีกำลังอัดต่ำด้วย