Abstract:
วิจัยการศึกษาความเป็นไปได้ การจัดการเชิงกลยุทธ์ตลาดแบบดั้งเดิมของไทย หนองมนโมเดล จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ได้แก่ วัตถุประสงค์แรก คือ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ด้วยการวิเคราะห์การบริหารจัดการของผู้ประกอบการ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มข้าวหลาม กลุ่มอาหารทะเลตากแห้ง กลุ่มสับปะรด และกลุ่มจักสาน โดยการวิเคราะห์การจัดการ 6 ด้าน ประกอบด้วย การวิเคราะห์ตลาด การวิเคราะห์การผลิต การวิเคราะห์จุดคุ้มทุน การวิเคราะห์กำไร การวิเคราะห์ความเสี่ยง และการวิเคราะห์แนวทางในการพัฒนาธุรกิจ วัตถุประสงค์ต่อมา คือ เพื่อวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค (SWOT) สินค้าทั้ง 4 ประเภท และวัตถุประสงค์สุดท้าย คือ เพื่อพัฒนาการจัดการเชิงกลยุทธ์ตลาดแบบดั้งเดิมของไทย หนองมนโมเดล การวิจัยฉบับนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) และการวิจัยเอกสาร (Documentary research) โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) และการสนทนากลุ่ม (Focus group) กับกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการชุมชนจังหวัดชลบุรี แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มข้าวหลาม ตลาดหนองมนแบ่งเป็น (1) ผลิตและขายเอง (2) รับมาขายต่อ 2) กลุ่มอาหารทะเลตากแห้ง ตลาดหนองมน 3) กลุ่มสับปะรด ตลาดศรีราชา 4) กลุ่มเครื่องจักรสาน ตลาดพนัสนิคม และนำข้อมูลที่ได้มาประมวลผลโดยวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า โดยการวิเคราะห์การจัดการทั้ง 6 ด้าน พบว่า มีปัญหาในทุกด้าน ได้แก่ ด้านตลาด มีปัญหาในเรื่องนโยบายภาครัฐ ด้านผลิต มีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ ด้านจุดคุ้มทุน มีปัญหาในการบันทึกข้อมูลต้นทุนสินค้า ด้านความเสี่ยง มีปัญหาในการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอก และสุดท้ายด้านพัฒนาธุรกิจ มีปัญหาการขาดความรู้ของผู้ประกอบการที่จะพัฒนาสินค้า ส่วนจุดแข็งของตลาดหนองมนคือ มีชื่อเสียง จุดอ่อน คือตราสินค้า ไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร โอกาส คือ นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดชลบุรี และอุปสรรค คือ การท่องเที่ยวที่ซบเซา ด้วยปัญหาและสถานการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดเป็นหนองมนโมเดล โดยการจัดทำโครงการส่งเสริมศักยภาพด้านต่าง ๆ ของตลาดหนองมนให้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงการนำเอาการจัดการตลาดเก่าของญี่ปุ่นมาเป็นต้นแบบเพื่อปรับใช้ด้วย