Abstract:
การศึกษาวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางคัดกรองภาวะผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบและปัจจัยที่มีผลกระทบต่อภาวะผื่นแพ้ที่ผิวหนังในผู้ประกอบอาชีพโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้เอ็มดีเอฟ แห่งหนึ่งในเขตภาคตะวันออก เก็บข้อมูลในผู้ประกอบอาชีพที่รับสัมผัสสารฟอร์มัลดีไฮด์จากฝุ่นไม้เอ็มดีเอฟ จำนวน 323 คน และกลุ่มเปรียบเทียบจำนวน 116 คน โดยใช้แบบสอบถาม เครื่องเก็บตัวอย่างอากาศแบบติดตัวบุคคล (Personal IOM samplers) เพื่อหาระดับความเข้มข้นของสารฟอร์มัลดีไฮด์ในบรรยากาศการทำงาน การทดสอบภาวะแพ้ที่ผิวหนัง (Patch test)
ผลการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่เป็นหญิง ร้อยละ 66.6 อายุเฉลี่ย (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 39.86 ((+/-9.83) ปี ส่วนใหญ่ศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ร้อยละ 35.9 มีระยะเวลาในการทำงาน มากกว่า 10 ปีขึ้นไป ร้อยละ 42.4 โดยมีระยะเวลาทำงานเฉลี่ย (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 10.51((+/-7.97) ปี ประวัติการเกิดภาวะแพ้ที่ผิวหนัง พบว่ามีผื่นบริเวณแขนมากที่สุด
ร้อยละ 17.3 ช่วงเวลาที่เป็นผื่นผิวหนังอักเสบมากที่สุด คือช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ร้อยละ 13.6
จากการวิเคราะห์ความเข้มข้นของสารฟอร์มัลดีไฮด์จากฝุ่นไม้เอ็มดีเอฟในกลุ่มรับสัมผัส พบว่าค่าเฉลี่ย (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 2.78 (3.85) ส่วนในล้านส่วน ส่วนกลุ่มไม่รับสัมผัส เท่ากับ 1.52 (1.48) ส่วนในล้านส่วน ส่วนความเข้มข้นฝุ่นแบบเข้าทางเดินหายใจ (Inhalable dust) ในกลุ่มรับสัมผัส เท่ากับ 8.3 ((+/-3.2) มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และในกลุ่มไม่รับสัมผัส เท่ากับ 1.7 (+/-0.98) มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ
ผลการตรวจผิวหนังโดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ พบว่า ส่วนใหญ่มีผื่น (Rash) ร้อยละ 40.5 รอยเกา (Excorianation/ scale) ร้อยละ 18.9 จุดแดงนูน (Papule) ร้อยละ 16.2 ตามลำดับ จากการทดสอบ Patch Test ในผู้ประกอบอาชีพที่รับสัมผัสฝุ่นไม้เอ็มดีเอฟ พบว่า ผู้ประกอบอาชีพมีอาการแพ้สารเคมีชนิดต่าง ๆ เช่น Cl+ Me-Isothiazolinone, p-phenylenediamine, Nickel sulphate, Epoxy resin, Formaldehyde Carba mix, cobalt chloride เป็นต้น
จากการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออาการผื่นทางผิวหนัง พบว่า ผู้ประกอบอาชีพที่เคยมีอาการผื่นแพ้โลหะ มีค่า OR (95% CI) เท่ากับ 3.6 (1.7, 7.3) ผู้ที่รับสัมผัสฝุ่นจากการตัด ขัด เจาะ ขึ้นรูปไม้ 1-3 ครั้งต่อสัปดาห์ มีค่า OR (95% CI) เท่ากับ 4.9 (1.3, 18.6) ผู้ที่ล้างห้องน้ำด้วยตนเองมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน มีค่า OR (95% CI) เท่ากับ 4.9 (1.4, 18.0) ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคผื่นแพ้ผิวหนัง มีค่า OR (95% CI) เท่ากับ 13.2 (3.2, 53.8) ตามลำดับ
ข้อเสนอแนะควรมีการคัดกรองสุขภาพผิวหนังผู้ประกอบอาชีพกลุ่มเสี่ยงเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพที่มีประวัติครอบครัวมีภาวะแพ้ที่ผิวหนัง สูบบุหรี่ รับสัมผัสฝุ่น ใช้น้ายาล้างห้องน้ำมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อผื่นแพ้ที่ผิวหนังมากขึ้น