Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาผลการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาของคณาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาจำแนกตามสาขาวิชา 2) เพื่อเปรียบเทียบผลการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนด้านพฤติกรรมการเรียนของผู้เรียน โดยจำแนกตามประเภทนิสิต 3) เพื่อเปรียบเทียบผลการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนต่อรายวิชา โดยจำแนกตามประเภทนิสิต 4) เพื่อเปรียบเทียบผลการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนด้านคุณภาพการสอนของอาจารย์ โดยจำแนกตามประเภทนิสิต ในการศึกษานี้ผู้วิจัยใช้ข้อมูลจากจากระบบประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยบูรพาสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล โดยสุ่มอย่างง่ายได้กลุ่มตัวอย่างเป็นอาจารย์ผู้สอนในระดับบัณฑิตศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ที่ดำเนินการสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 54 คน และนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนทั้งสิ้น 2,576 คน จากจำนวนกลุ่มเรียนทั้งสิ้น 196 กลุ่ม เป็นภาคปกติ 100 กลุ่ม และภาคพิเศษ 96 กลุ่ม
ผลการศึกษาค้นคว้าพบว่า ระดับความคิดเห็นการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนด้านพฤติกรรมการเรียนของผู้เรียน ในภาพรวมอยู่ในระดับดี (X ̅ = 4.33, SD = .307) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า อันดับหนึ่งนิสิตมีพฤติกรรมการเข้าเรียนในรายวิชาต่าง ๆ ตรงเวลา (X ̅ = 4.44, SD = .363) อันดับสองนิสิตมีพฤติกรรมการตั้งใจเรียน และซักถามเมื่อมีข้อสงสัย (X ̅ = 4.39, SD = .336) และอันดับสามนิสิตมีพฤติกรรมการอภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้เนื้อหารายวิชาต่าง ๆ กับเพื่อนร่วมชั้นเรียน (X ̅ = 4.38, SD = .356)
การประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนต่อรายวิชา พบว่า โดยภาพรวมนิสิตมีความคิดเห็นระดับดีมาก (X ̅ = 4.52, SD = .312) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า อันดับหนึ่งนิสิตมีความคิดเห็นต่อรายวิชาว่าได้รับประโยชน์จากการเรียนวิชานี้ (X ̅ = 4.58, SD = .363) อันดับสองนิสิตมีความเห็นเนื้อหาวิชาว่ามีความทันสมัย (X ̅ = 4.50, SD = .343) และอันดับสามนิสิตมีความเห็นต่อรายวิชาว่ามีสื่อการสอนที่เหมาะสม ส่งเสริมการเรียนรู้ และสอดคล้องกับเนื้อหา (X ̅ = 4.48, SD = .344)
การประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนด้านคุณภาพการสอนของอาจารย์ พบว่า โดยภาพรวมนิสิตมีความคิดเห็นในระดับดีมาก (X ̅ = 4.56, SD = .311) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า อันดับหนึ่งนิสิตมีความเห็นว่าการสอนของอาจารย์ในห้องเรียนมีการส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง และเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (X ̅ = 4.62, SD = .307) อันดับสองนิสิตมีความเห็นการสอนของอาจารย์ในห้องเรียนว่า อาจารย์เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมหรือซักถามในชั้นเรียน (X ̅ = 4.60, SD = .323) และอันดับสามนิสิตมีความเห็นว่าการสอนของอาจารย์ในห้องเรียนอาจารย์มีการชี้แจงวัตถุประสงค์ ขอบข่ายเนื้อหา แผนการสอน และวิธีการประเมินผลการเรียน (X ̅ = 4.57, SD = .336) และอาจารย์เข้าและเลิกสอนตรงเวลา (X ̅ = 4.57, SD = .382)
ผลการเปรียบเทียบประเมินสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนด้านพฤติกรรมการเรียนของผู้เรียน โดยจำแนกตามประเภทนิสิต พบว่า ระดับความคิดเห็นด้านพฤติกรรมการเรียนของผู้เรียน โดยจำแนกตามประเภทนิสิต นิสิตภาคปกติและนิสิตภาคพิเศษมีความคิดเห็นต่อประเด็นการประเมินทุกข้อมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ยกเว้นประเด็นการเข้าเรียนรายวิชาต่าง ๆ ตรงเวลา มีความคิดเห็นที่ไม่แตกต่างกัน แสดงว่านิสิตทั้งภาคปกติและภาคพิเศษเข้าเรียนในรายวิชาต่าง ๆ ตรงเวลา
ผลการเปรียบเทียบการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนต่อรายวิชา โดยจำแนกตามประเภทนิสิต พบว่า ระดับความคิดเห็นต่อรายวิชา โดยจำแนกตามประเภทนิสิต นิสิตภาคปกติและนิสิตภาคพิเศษมีความเห็นต่อประเด็นการประเมินทุกข้อมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ยกเว้นประเด็นเกี่ยวกับเนื้อหาวิชามีความทันสมัยมีความคิดเห็นที่ไม่แตกต่างกัน แสดงว่านิสิตทั้งภาคปกติและภาคพิเศษมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่าเนื้อหารายวิชาที่เปิดสอนในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มีความทันสมัย
ผลการเปรียบเทียบการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนด้านคุณภาพการสอนของอาจารย์ โดยจำแนกตามประเภทนิสิต พบว่า นิสิตภาคปกติและนิสิตภาคพิเศษมีความคิดเห็นต่อประเด็นการประเมินทุกข้อมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ยกเว้นประเด็นเกี่ยวกับการชี้แจงวัตถุประสงค์ ขอบข่ายเนื้อหา แผนการสอน และวิธีการประเมิน และประเด็นเกี่ยวกับอาจารย์เข้าและเลิกสอนตรงเวลา มีความคิดเห็นที่ไม่แตกต่างกัน แสดงว่านิสิตทั้งภาคปกติและภาคพิเศษ มีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่าอาจารย์มีการชี้แจงวัตถุประสงค์ ชี้แจงขอบข่ายเนื้อหา ชี้แจงแผนการสอน และวิธีการประเมินก่อนการจัดการเรียนการสอน และอาจารย์เข้าและเลิกสอนตรงเวลา