Abstract:
การวิจัยเรื่อง การก่อการร้ายระหว่างประเทศ: ศึกษาการจี้เครื่องบินพาณิชย์ในประเทศไทย: มีวัตถุประสงค์ที่จะสำรวจข้อมูลการจี้เครื่องบินพาณิชย์ในประเทศไทย และสาเหตุของการจี้เครื่องบินพาณิชย์ในประเทศไทย รวมทั้งวิเคราะห์รูปแบบการแก้ไขปัญหาการจี้เครื่องบินของรัฐบาลไทย การวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงเอกสาร (documentary Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการรวบรวมข้อมูลการจี้เครื่องบินพาณิชย์ จากหนังสือพิมพ์รายวัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ถึงปัจจุบัน จากนั้นจะวิเคราะห์รายละเอียดของข้อมูลแล้วสรุปเป็นประเด็นสำคัญ ๆ เพื่อสัมภาษณ์บุคคลผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informants) ผลการวิจัย พบว่ามีการจี้เครื่องบินพาณิชย์ในประเทศไทยรวม 8 ครั้ง และการจี้เครื่องบิน 5 ครั้ง ดำเนินการโดยองค์การก่อการร้ายหรือขบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการแบ่งแยกดินแดน ทั้งนี้สลัดอากาศได้จี้เครื่องบินลงจอดในประเทศไทย 4 ครั้ง และสลัดอากาศจี้เครื่องบินจากสนามบินในประเทศไทยไปจอดลงในประเทศอื่น ๆ 4 ครั้ง ส่วนรูปแบบการแก้ไขปัญหาการจี้เครื่องบินของรัฐบาลไทยนั้น พบว่าไม่มีการปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้เมื่อเกิดเหตุการณ์จี้เครื่องบิน ผู้นำของไทยนิยมเจรจากับสลัดอากาศโดยตรง และไทยไม่มีแนวความคิดที่จะใช้มาตรการเด็ดขาดเพื่อชิงตัวประกัน เพราะไม่ต้องการตกเป็นเป้าหมายแก้แค้นของขบวนการก่อการร้ายสากล
หากประเทศไทยยังคงมุ่งหวังที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคนี้ ไทยจะต้องพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยของสนามบินให้มีมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเป็นที่เชื่อมั่นได้ว่าสลัดอากาศไม่สามารถลักลอบอาวุธขึ้นเครื่องบินได้จากสนามบินในประเทศไทย.