Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญาหา ความต้องการ และความพึงพอใจของนิสิตที่มีต่อการใช้บริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อศึกษา ของ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ คือ นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้แก่ ระดับปริญญาตรีภาคปกติ 220 คน ระดับปริญญาตร๊ภาคพิเศษ 29 คน ระดับปริญญาโทภาคปกติ 12 คน ระดับปริญญาโทภาคพิเศษ 84 คน ระดับปริญญาเอกภาคปกติ 23 คน ระดับปริญญาเอกภาคพิเศษ 7 คน ซึ่งได้มาโดยคำนวณหาขนาดของกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการคำวนวณจากสูตรของ ทาโร ยามาเน่ หลังจากนั้นคำนวณหาจำนวนตัวอย่างประชากรในแต่กลุ่มโดยใช้การสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (stratified Random Sampling) และในแต่ละชั้นภูมิจะมีการสุ่มตัวอย่างแบบสัดส่วน (Proportional Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสอบถาม โดยผู้วิจัยได้แบ่งแบบสอบถามเป็นแบบสำรวจรายการ แบบมาตราส่วนประมาณค่าและแบบสอบถามปลายเปิด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า 1) นิสิตมีความเห็นต่อสภาพปัญหาของการใช้บริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ย (x̄) = 2.77, SD = 0.45 โดยระบบฯด้านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู/ฝึกงานมีปัญหาในระดับมากเป็นลำดับที่หนึ่งโดยมีค่าเฉลี่ย (x̄) = 3.59, SD = 0.15 2)นิสิตมีความต้องการในการใช้บริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา โดยรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย (x̄)= 4.37 , SD =0.48 โดยระบบฯ ที่มีความต้องการมากที่สุด คือ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาด้านการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ e-Learning และ VDO streaming อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมี ค่าเฉลี่ย (x̄) = 4.89, SD = 0.83 และ 3)นิสิตมีความคิดเห็นความพึงพอใจในการใช้บริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา โดยรวมอยู่ในระดับมาก มี่ค่าเฉลี่ย (x̄) = 3.86, SD = 0.47 โดยประเด็นความพึงพอใจที่มีมากที่สุด คือ ความพึงพอใจด้านระบบทะเบียนและสถิติ นิสิตอยู่ในระดับมาก โดยมี่ค่าเฉลี่ย (x̄) = 4.30 , SD = 0.85 นอกจากนั้นนิสิตได้มีความคิดเห็นเพิ่มเติมในด้านความต้องการ สภาพปัญหาที่สอดคล้องกัน นั่นคือ สัญญาณและความเร็วของสัญญาณ WiFi ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่