Abstract:
การดูแลผู้ที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตเพื่อให้ได้ตายอย่างสงบ ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของผู้สูงอายุในระยะสุดท้ายและสมาชิกในครอบครัว การศึกษาครั้งนี้เป็น
การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อการพัฒนารูปแบบการเตรียมความพร้อมของผู้สูงอายุและครอบครัวสู่การตายอย่างสงบที่บ้าน เก็บข้อมูลโดยวิธีวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและการตอบแบบสอบถามผู้ให้ข้อมูลในการวิจัยนี้ ประกอบด้วย
ผู้สูงอายุ 8 ราย สมาชิกในครอบครัว 10 ราย และแกนนำชุมชน 1 ราย รวมทั้งสิ้น 30 ราย วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธี Content analysis และสถิติเชิงพรรณนา
จากการดำเนินการวิจัยพบว่า การพัฒนารูปแบบการดูแล แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ ระยะที่ 1 การค้นหาปัญหา จากการสำรวจและสัมภาษณ์ปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุระยะสุดท้ายและสมาชิกในครอบครัว ระยะที่ 2 การวางแผนแก้ไขปัญหา โดยการสังเคราะห์จากข้อมูลที่รวบรวมได้เพื่อสรา้งรูปแบบและวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะนี้ มีการจัดกิจกรรมที่สำคัญ 3 กิจกรรม ระยะที่ 3 การลงมือปฏิบัติ โดยการนำรูปแบบไปปฏิบัติจริงกับผู้สูงอายุที่อยู่ในระยะสุดท้ายที่ต้องการเสียชีวิตที่บ้าน และระยะที่ 4 การสะท้อนผลการปฏิบัติและการประเมินผล เป็นการทบทวนและประเมินผลการปฏิบัติจริงเพื่อปรับรูปแบบการดูแลให้เหมาะสม และผลการศึกษายังพบว่า องค์ประกอบที่สำคัญของรูปแบบการดูแลนี้ มี 3 ส่วน คือ 1. ผู้สูงอายุที่ต้องการจะเสียชีวิตที่บ้าน 2. ครอบครัวที่คำนึงถึงความต้องการของผู้สูงอายุและการให้การดูแลด้วยความรักและกตัญญู และ 3. การดูแลเพื่อการตายอย่างสงบที่อาศัยความร่วมมือจากหลายส่วน เช่น เครือญาติ อาสาสมัครสาธารณสุขของผู้สูงอายุ พระ และพยาบาล การดูแลตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้นนี้ ช่วยให้ญาติยอมรับการจากไปของผู้สูงอายุได้ง่ายขึ้น เนื่องด้วยผู้สูงอายุได้จากไปอย่างสงบที่บ้านของตนอย่างงดงาม
รูปแบบการเตรียมความพร้อมของผู้สูงอายุและครอบครัวสู่การตายอย่างสงบที่บ้านนี้ถือเป็น "การดูแลด้วยความรักและความกตัญญู" ผลการศึกษาที่ได้ ควรใช้เป็นแนวทางสำหรับพยาบาลในการเตรียมผู้ดูแลเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุได้ตายอย่างสงบที่บ้าน โดยคำนึงถึงความต้องการของทั้งผู้สูงอายุและครอบครัวเพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้เวลาในช่วงสุดท้ายที่บ้านและจากไปท่ามกลางความรักและการดูแลของสมาชิกในครอบครัว