Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาเพื่อหาข้อมูลความต้องการการดูแลในระยะสุดท้ายของผู้สูงอายุ และครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุเพื่อการตายอย่างสงบที่บ้าน กลุ่มผู้ให้ข้อมูลเชิงคุณภาพ ได้แก่ ผู้สูงอายุ สมาชิกในครอบครัว พยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และแกนนำชุมชน จำนวน 28 ราย กลุ่มตัวอย่างผู้ให้ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย ประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุ จำนวน 200 ราย และ สมาชิกในครอบครัว จำนวน 200 ราย เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการตอบแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธี Content analysis และสถิติเชิงพรรณนา
ผลการศึกษาจากการรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพ พบว่า ความหมายของผู้สูงอายุที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต มี 2 ความหมาย คือ 1) ผู้ที่เจ็บป่วยที่บ้าน และมีอาการทรุดลง ก่อนเสียชีวิต และ 2) ผู้ที่รักษาที่โรงพยาบาลไม่ได้แล้ว ต้องมาดูแลเพื่อเสียชีวิตที่บ้าน และความหมายของการตายอย่างสงบที่บ้าน ประกอบด้วย 5 ความหมาย ได้แก่ 1) การตายที่หมดอายุขัย และจากไปแบบไม่ทรมาน 2) การตายที่สงบและอบอุ่น ณ บ้านของตนเอง 3) การตายที่ไม่รบกวนลูกหลาน 4) การตายที่มีลูกหลานมาอยู่รอบข้าง และ 5) การตายตามธรรมชาติที่ทำให้ลูกหลานมีความสุข สบายใจ ความต้องการของผู้สูงอายุที่มีอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต มี 2 ประเด็น ได้แก่ 1) การได้ทำบุญก่อนจากไป และ 2) การมีโอกาสได้สั่งเสียลูกหลานการดูแลผู้สูงอายุเพื่อการตายอย่างสงบที่บ้าน มีทั้งหมด 7 ประเด็น ได้แก่ 1) การที่ลูกหลานอยู่เคียงข้างตลอดเวลา 2) การมีเสียงพูดบอกนำทางก่อนสิ้นใจ 3) การช่วยให้ได้ทำบุญที่บ้าน 4) การที่ลูกหลานช่วยให้หมดห่วงหมดกังวล 5) การดูแลความสุขสบาย คอยช่วยเหลือกิจวัตรประจำวัน 6) การที่ลูกหลานทำให้ตามที่รับปากไว้ และ 7) การจัดเตรียมสิ่งของตามความเชื่อไว้ให้ก่อนการตาย ผลการศึกษาเชิงปริมาณเกี่ยวกับความต้องการการดูแลในระยะสุดท้ายเพื่อการตายอย่างสงบที่บ้านของผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัว พบว่า 1. ผู้สูงอายุมีความต้องการในระดับมากที่สุด มี 2 ด้าน คือ 1) ด้านปัญญา/ จิตวิญญาณ (X= 36.30, SD = 6.72) และ 2) ความต้องการทางด้านสังคม/ สิ่งแวดล้อม (X=32.97, SD = 6.16)
2. สมาชิกในครอบครัวมีความต้องการในระดับมากที่สุด มี 2 ด้าน คือ 1) ความต้องการทางด้านปัญญา/ จิตวิญญาณ (X = 37.00, SD = 5.15) และ 2) ความต้องการทางด้านสังคม/ สิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับมากที่สุด (X=33.58, SD = 4.40)
ผลการศึกษาที่ได้นี้มีประโยชน์สำหรับพยาบาลและบุคลากรสุขภาพที่เกี่ยวข้องในการพัฒนารูปแบบการเตรียมความพร้อมของผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัวเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถตายอย่างสงบที่บ้านได้ตามความต้องการ