Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติและพฤติกรรม เปรียบเทียบทัศนคติและพฤติกรรมการใช้สื่อสารสนเทศในการเรียนรู้ภาษาจีนด้วยตนเองของนิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และเสนอรูปแบบการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนรู้ภาษาจีนด้วยตนเองที่เหมาะสมสำหรับนิสิตระดับอุดมศึกษา โดยใช้ระเบียบวิะีวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods Research) ในส่วนแรกเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เพื่อศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนรู้ภาษาจีนด้วยตนเอง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1-4 ที่เรียนวิชาภาษาจีนในปีการศึกษา 2557 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จำนวน 88 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ เกี่ยวกับการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนรู้ภาษาจีนด้วยตนเองของนิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มีค่าความเชื่อมั่น .89 สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) และค่าความแปรปรวนทางเดียว (one-way ANOVA) ในส่วนที่สองเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เพื่อเสนอรูปแบบการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนรู้ภาษาจีนด้วยตนเองที่เหมาะสมสำหรับนิสิตระดับอุดมศึกษา
ผลการวิจัยพบว่า นิสิตมีทัศนคติและพฤติกรรมการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนรู้ภาษาจีนด้วยตนเองโดยรวม อยู่ในระดับมาก
นิสิตที่มีเพศต่างกันมีทัศนคติและพฤติกรรมการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนรู้ภาษาจีนด้วยตนเองไม่แตกต่างกัน
นิสิตที่มีชั้นปีต่างกันมีทัศนคติต่อการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนรู้ภาษาจีนด้วยตนเอง ด้านประโยชน์ของการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศกับการเรียนการสอนภาษาจีนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีพฤติกรรมการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนรู้ภาษาจีนด้วยตนเอง ด้านพฤติกรรมการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนภาษาจีนด้วยตนเอง และด้านพฤติกรรมการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนภาษาจีนด้วยตนเองกับการเรียนในห้องเรียน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ส่วนรูปแบบการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนรู้ภาษาจีนด้วยตนเองที่เหมาะสมสำหรับนิสิตระดับอุดมศึกษานั้น ควรเป็นการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสื่อเสริมจากการเรียนในห้องเรียน โดยผู้สอนเป็นแนะนำสื่อเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้สื่อเทคโนโลยีในการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสุงสุด