Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษาการประยุกต์ใช้คลื่นอัลตราโซนิคในการประเมินการแทรกซึมของคลอไรด์ในคอนกรีตที่ผสมเถ้าถ่านหินภายใต้สิ่งแวดล้อมทะเล โดยใช้ส่วนผสมคอนกรีตธรรมดาเทียบกับคอนกรีตที่แทนที่ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 1 ด้วยเถ้าถ่านหินจากแม่เมาะในอัตราส่วนร้อยละ 15, 25, 35 และ 50 โดยนำหนักวัสถุประสานและมีอัตราส่วนน้ำต่อวัสดุประสาน 0.45, 0.55 และ 0.65(ส่วนผสมเดียวกับคอนกรีตที่แช่ในสิ่งแวดล้อมทะเล) หล่อตัวอย่างคอนกรีตขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 100 มม. สูง 200 มม. เพือทดสอบความหนาแน่นของคอนกรีตด้วยคลื่นอัลตราโซนิคที่อายุคอนกรีต 28 และ 90 วัน เปรียบเทียบกับผลทดสอบการแทรกซึมของคลอไรด์ที่อายุแช่น้ำทะเล 10 ปี ตลอดจนเปรียบเทียบกับผลทดสอบคุณสมบัติด้านความคงทนของคอนกรีตที่ได้จากการทดสอบแบบ RCPT และสัมประสิทธิ์การแทรกซึมของคลอไรด์ที่อายุแช่น้ำทะเล 10 ปี
ผลการศึกษาพบว่า การใช้เถ้าถ่านหินแทนที่ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 1 ในปริมาณที่มากขึ้น ส่งผลให้ความเร็วของคลื่นอัลตราโซนิคในคอนกรีตที่อายุ 28 วัน มีแนวโน้มลดลง และมีทิศทางตรงกันข้ามกับสัมประสิทธิ์การแทรกซึมของคลอไรด์ ส่วนความเร็วของคลื่นอัลตราโซนิคที่อายุ 99 วัน มีแนวโน้มสูงขึ้นและเป็นไปในทิศทางเดียวดับสัมประสิทธิ์การแทรกซึมของคลอไรด์ อายุของคอนกรีตที่นานขึ้นส่งผลให้ความเร็วของคลื่นอัลตราโซนิคในคอนกรีตที่ผสมเถ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นชัดเจนกว่าคอนกรีตธรรมดา การศึกษาครั้งนี้สามารถประเมินคุณสมบัติด้านความคงทนของคอนกรีตที่ทดสอบโดย RCPT และสัมประสิทธิ์การแทรกซึมของคลอไรด์ในคอนกรีตที่ผสมเถาถ่านหินร้อยละ 0, 15, 25, 35 และ 50 จากผลการทดสอบแบบไม่ทำลายโดยใช้คลื่นอัลตราโซนิค