Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะสำรวจความต้องการการศึกษาต่อระดับปริญญาโท หลักสูตรการจัดการธุรกิจ คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิยาลัยบูรพา เพื่อดูความต้องการ ความคิดเห็นและความคาดหวังจากการศึกษาต่อในหลักสูตรนี้ และเพื่อสำรวจความคิดเห็นภายใต้กรอบทรัพยากรสำคัญขององค์การ (VRIO framework) 4 ด้าน ได้แก่ คุณค่า (Value) ความหายาก (Rareness) ความสามารถในการลอกเลียนแบบ (Imitability) และองค์การ (Organization) โดยเป็นการวิจัยแบบผสม (Mixed methods research) ซึ่งใช้เทคนิควิธีการวิจัยที่ผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ดำเนินการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามประกอบกับการสัมภาษณ์เชิงลึก ข้อมูลเชิงปริมาณใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตระดับอุดมศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัย
บูรพา และผู้ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เลือกโดยใช้สูตรทาโร่ ยามาเน่ จำนวน 660 คน ประกอบด้วยผู้ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 จำนวน 275 คน และผู้ที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก จำนวน 385 คน โดยได้รับแบบสอบถามกลับคืนมาจำนวน 560 ฉบับ
คิดเป็นร้อยละ 84.85 ในส่วนของข้อมูลเชิงคุณภาพได้ทำการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจ จำนวน 3 คน ผลการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่ให้ความสนใจในการศึกษาต่อในหลักสูตรนี้มีจำนวนร้อยละ 56.6 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด โดยคนที่สนใจส่วนมาก
จะเป็นนิสิตที่กำลังศึกษาอยู่ในปีสุดท้าย และสนใจที่จะเรียนแบบไม่ทำวิทยานิพนธ์ โดยมีเหตุผลสำคัญที่ให้ความสนใจในหลักสูตรอันดับแรกคือ ต้องการเพิ่มความรู้ด้านเนื้อหาทฤษฎีให้ลึกซึ้ง รองลงมาได้แก่ อยากเรียนต่อเพิ่มวุฒิการศึกษา และความน่าสนใจในเนื้อหาของหลักสูตร ตามลำดับ และปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการศึกษาต่ออันดับแรกคือ การได้สร้างความสัมพันธ์ภายใน
กลุ่มเรียน ความทันสมัยของหลักสูตร เวลาเรียนที่เอื้ออำนวยและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน ตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่ไม่ให้ความสนใจที่จะเรียนในหลักสูตรนั้นมีเหตุผล คือ ทำงานในวันจันทร์
ถึงเสาร์ ต้องการทำงานเพียงอย่างเดียวและอยากได้ประสบการณ์ตรงจากการทำงานมากกว่า ผลการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจ จำนวน 3 คน ด้วยแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างภายใต้กรอบแนวคิดทรัพยากรสำคัญขององค์การ (VRIO framework) พบว่า หลักสูตรนี้ควรเน้นการเรียนรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในทางธุรกิจได้เพื่อเพิ่มความน่าในใจในหลักสูตร นอกจากนี้ทางคณะฯ ควรคัดเลือกบุคลากรที่เก่งมีคุณภาพ โดยเฉพาะอาจารย์ผู้สอนต้องมีความรู้ดีมีเทคนิคการสอนที่ดีในการถ่ายทอดแก่ผู้เรียน เข้าใจผู้เรียน มีคุณธรรมและจริยธรรมที่จะช่วยเสริมภาพลักษณ์ของสถาบันการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น และหากเป็นไปได้ควรสร้าง
ความร่วมมือกับองค์การภายนอก ทั้งองค์การทางธุรกิจและองค์การทางการศึกษาที่มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือข้อเสนอแนะที่ได้จากงานวิจัย คือพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาโทให้หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ต้องมีการเตรียมทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในการเรียนให้พร้อมสำหรับผู้มาเรียน ทั้งบุคลากร อาคารสถานที่ เอกสารตำราเรียน และควรมีการติดตามความก้าวหน้าในการทำงานของมหาบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปประชาสัมพันธ์หลักสูตรให้บุคคลที่สนใจทราบอบ่างทั่วถึงและกว้างขวาง