Abstract:
การวิจัยนี้เป็นโครงการย่อยที่ 4 เรื่อง “การดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานโดยให้ครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วม” ในชัดแผนงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเมืองผู้สูงอายุแสนสุข” ซึ่งในปีที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินภาวะสุขภาพและศักยภาพในการดูแลตนเองเกี่ยวกับความรู้พฤติกรรมสุขภาพ และการสนับสนุนทางสังคมของผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานในชุมชนเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงพรรณนา ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี ที่ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างโดยกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างจากตารางเครจ์ซี่และมอร์แกน (Robert V. Krejcie and Earyle W. morgan 1970) ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 368 คน ตัวแปรที่ศึกษา ได้แก่ คุณลักษณะทั่วไปของผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน ความรู้ พฤติกรรมสุขภาพ การสนับสนุนทางสังคม เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการศึกษาวิจัยครั้งนี้ คือ แบบสอบถาม ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือด้านความเที่ยงตรงจากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 ท่าน และมีค่าความเชื่อมั่น 0.97 และผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยมนุษย์ มหาวิทยาลัยบูรพา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า
1. ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน ในเขตเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากที่สุด (ร้อยละ 65.76) มีอายุระหว่าง 60-69 ปี (ร้อยละ 48.1) มีสถานภาพคู่ (ร้อยละ 42.12) ประกอบอาชีพค้าขาย (ร้อยละ 26.90) มีระดับการศึกษา ระดับประถมศึกษา (ร้อยละ 63.59) รายได้ต่อเดือนส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 10,000-19,999 บาท (ร้อยละ 26.63) ระยะเวลาที่เป็นโรคเบาหวาน มาเป็น 1-5 ปี มากที่สุด (ร้อยละ 33.97)
2. ความรู้ของผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน พบว่า ส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเบาหวาน เนื่องจากไม่มีข้อคำถามใดเลยที่มีผู้ตอบถึงร้อยละ 50
3. พฤติกรรมการดูแลตนเอง พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีพฤติกรรมการจัดการความเครียด อยู่ในระดับต่ำ นอกนั้นมีพฤติกรรมการดูแลตนเองอยู่ในระดับปานกลาง ได้แก่ พฤติกรรมการรับประทานยา พฤติกรรมการรับประทานอาหาร พฤติกรรมการออกกำลังกาย โดยมีรายละเอียดของพฤติกรรมการมีระดับการดูแลตนเองต่ำที่สุด ในประเด็นต่าง เรื่องการปรับลดปริมาณยารับประทานด้วยตนเองและ 2) การพักผ่อน นอนหลับที่ไม่เพียงพอ
4. การสนับสนุนทางสังคมของการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน ในเขตเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี พบว่า คู่สมรสของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังมีชีวิตอยู่ (ร้อยละ 82.61) มีอายุเฉลี่ย 69.18 ± 6.14 ปี ประกอบอาชีพค้าขาย (ร้อยละ 34.24) บุตรของผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีบุตรและยังมีชีวิตอยู่ (ร้อยละ 93.75) จำนวนบุตรเฉลี่ย 6.39 ± 1.8 คน อายุเฉลี่ย 36.42 ±6.23 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 71.75) พักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน (ร้อยละ 63.59) มีจำนวนสมาชิกในครัวเรือนปัจจุบันเฉลี่ย 10.12 ±4.15 คน สัมพันธภาพส่วนใหญ่เป็น บุตร/ ธิดา (ร้อยละ 35.75) การประกันสุขภาพของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่คือ บัตรประกันสุขภาพ (ร้อยละ 41.16) ผู้สูงอายุส่วนใหญ่สามารถจ่ายและจัดการค่ารักษาพยาบาลของตนเองได้ (ร้อยละ 85.33) ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนเรื่องการเงินสำหรับการดูแลตนเองในระยะยาว (ร้อยละ 92.57) และมีความวิตกกังวลเรื่องการเงิน (ร้อยละ 76.90) แหล่งสนับสนุนด้านผู้ดูแล เมื่อผู้สูงอายุเจ็บป่วย ผู้ดูแลหลักในครอบครัว คือ บุตร/ธิดา (ร้อยละ 59.42) โดยผู้ดูแลหลักส่วนใหญ่มีงานทำ (ร้อยละ 100.00) ซึ่งเป็นการทำงานที่บ้าน (ร้อยละ 66.03) ผู้ช่วยเหลือในการทำงานบ้านให้ผู้สูงอายุ เช่น การทำความสะอาด ทำอาหาร ส่วนใหญ่เป็นการช่วยกันทำระหว่างผู้สูงอายุเองและสมาชิกในครอบครัว (ร้อยละ 41.57) แหล่งสนับสนุนด้านจิตใจ ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมีบุคคลที่ไว้วางใจ (ร้อยละ 95.11) มีบุคคลที่ช่วยเหลือเกื้อหนุนด้านจิตใจเมื่อต้องการ (ร้อยละ 53.53) มีบุคคลที่สามารถพูดคุยด้วยเมื่อเกิดความกังวลใจ (ร้อยละ 55.98) เมื่อผู้สูงอายุเจ็บป่วยมีผู้มาเยี่ยมเยียน (ร้อยละ 84.78)