Abstract:
ป่าชายเลนชุมชนบ้านแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ถูกล้อมรอบด้วยชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ภายในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ประกอบกับยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับโลหะหนักในป่าชายเลนบริเวณนี้ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสะสมและการแพร่กระจายโลหะหนัก ชนิด 7 คือ ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม สังกะสี ทองแดง เหล็ก และ นิเกิล ในน้ำ ดินตะกอน และป่าชายเลนชนิดเด่น 4 ชนิดคือ โกงกางใบเล็ก, Rhizophora apiculate โกงกางใบใหญ่, Rhizophora mucronata แสม, Avicennia spp. ตะบูนขาว, Xylocarpus granatum รวมทั้งศึกษาศักยภาพของพืชป่าชายเลนในการเป็นดัชนีวัดทางชีวภาพตรวจวัดมลพิษจากโลหะหนัก โดยเก็บตัวอย่าง 2 ครั้งในฤดูฝน (ตุลาคม 2555) และฤดูแล้ง (กุมภาพันธ์ 2557) ผลการศึกษา พบว่า โลหะหนักส่วนใหญ่ในน้ำและดินตะกอนมีค่าสูงในสถานีก่อนเข้าสู่ป่าชายเลน และมีปริมาณลดลงเมื่อออกจากป่าชายเลนไปสู่ทะเล โลหะหนักในน้ำมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ส่วนโลหะหนักในดินตะกอนส่วนใหญ่มีค่าสูงเกินมาตรฐานคุณภาพตะกอนในดินแหล่งน้ำผิวดินในบางสถานีและบางฤดูกาล การศึกษาโลหะหนักในรากและใบของพืชป่าชายเลน พบว่าโลหะหนักส่วนใหญ่เข้าไปสะสมอยู่ที่รากมากกว่าที่ใบทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ทั้งนี้ราของพืชป่าชายเลนมีความสามารถสะสมโลหะหนักได้น้อยกว่าปริมาณที่มีอยู่ในดินตะกอน แต่ปริมาณโลหะในรากเป็นโลหะหนักที่เข้าสู่สิ่งมีชีวิตได้และใช้บ่งบอกถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่โลหะหนักในดินตะกอนเป็นปริมาณโลหะหนักรวม พบว่า รากของต้นตะบูนขาว And Xylocarpus granatum มีประสิทธิภาพในการดูดซึมและนำโลหะหนักเกือบทุกชนิดเข้าสู่เนื้อเยื่อได้ดี โดยเฉพาะสามารถสะสมแคดเมียมได้ในปริมาณที่สูงกว่าในดินตะกอน จึงจัดว่ารากของต้นตะบูนขาว เป็น Cd hyperaccumulator และในส่วนของใบ พบว่า ใบของต้นแสม มีอัตรานำเข้าโลหะหนักทุกชนิดได้สูงที่สุด ด้วยเหตุนี้รากของพืชป่าชายเลนจึงมีศักยภาพ ในการเป็นดัชนีชีวัดทางชีวภาพในการตรวจสอบวัดมลพิษจาก โลหะหนักได้ดีกว่าใบ