Abstract:
งานวิจัยเรื่อง การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของภาคตะวันออกยุคต้น (ยุคก่อนประวัติศาสตร์-รัตนโกสินทร์ตอนต้น) เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่มีวัตถุประสงค์ดังนี้
1) สืบค้น รวบรวมข้อสนเทศทางภูมิศาสตร์มานุษยวิทยา โบราณคดี และประวัติศาสตร์ ทั้งที่เป็นข้อมูลลายลักษณ์และมิใช่ลายลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับภาคตะวันออก
2) ตรวจสอบ วิพากษ์ วิเคราะห์ และสังเคราะห์ เพื่อให้ได้ทัศนภาพทางประวัติศาสตร์ (HistoricalnPerspective) เกี่ยวกับภาคตะวันออก ที่ถูกต้อง ชัดเจน และมีพลวัต
3) เพื่อให้ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับภาคตะวันออก ทั้งในด้านสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ พัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครอง ตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์จนถึง
ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ (Historical Method)
ผลการวิจัยพบว่า ลักษณะที่ตั้งสัมพันธ์และความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของภาคตะวันออก ทำให้บริเวณนี้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มานานนับหมื่นปีมาแล้ว การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาตร์ในภาคตะวันออก จำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่อยู่ตามถ้ำและเพิงผา
2) กลุ่มที่อยู่ตามเนินดินบริเวณที่ราบเชิงเขา 3) กลุ่มที่อยู่ตามเนินดินที่ล้อมรอบด้วยป่าชายเลนหรือป่าโกงกางในยุคประวัติศาสตร์ก่อนสมัยราชอาณาจักรไทย พบร่องรอยของชุมชนที่พัฒนาขึ้นมาเป็นบ้านแล้วเป็นเมือง แถบลุ่มแม่น้ำบางปะกง ทั้งตอนล่างและตอนบน และลุ่มน้ำจันทบุรี (คลองนารายณ์) ลุ่มน้ำบางปะกงตอนล่าง มีชุมชนเมืองพระรถ เมืองพญาเร่ เมืองศรีพโล จังหวัดชลบุรีและชุมชนเมืองเกาะขนุน บ้านคูเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ลุ่มน้ำบางปะกงตอนบน (ลุ่มน้ำปราจีบบุรี) มีชุมชนเมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เมืองไผ่ ปราสาทเข้าน้อย เขารัง จังหวัดสระแก้ว ลุ่มน้ำนครนายก มีเมืองดงละคร จังหวัดนครนายก ใต้จังหวัดสระแก้วลงมามี
เทือกเขาจันทบุรีและเทือกเขาบรรทัดมีชุมชนเมืองสมัยทวารวดี-ลพบุรี ที่บริเวณวัดทอง
ทั่ว เพนียด และวัดเพนียด
สมัยประวัติศาตร์ไทยยุคต้น (สุโขทัย - รัตนโกสินทร์ตอนต้น) ในสมัยสุโขทัย แม้จะไม่ปรากฏชื่อเมืองในภาคตะวันออกแต่พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีชุมชนเมืองเกิดขึ้นแล้วในชื่ออื่น แต่ในสมัยอยุธยาปรากฎชื่อเมืองปราจีนบุรี วัฒนานคร ตาพระยา อรัญประเทศ นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี บางละมุง ระยอง จันทบุรี และตราด เมืองเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงปลอดภัยของอาณาจักรและประชาชน ตอนปลายสมัยอยุธยา ยังมีบทบาสำคัญในการกอบกู้เอกราช และสถาปนาศูนย์อำนาจทางการเมืองการปกครองใหม่ ณ กรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ในเวลาต่อมา พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของภาคตะวันออกทั้งตอนบนและตอนล่าง ในสมัยธนบุรี และรัตนโกสินทร์เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรื้อฟื้นอำนาจของไทยในกัมพูชา และลาว เพราะภาคตะวันออกเป็นเส้นทางการเดินทัพทั้งทางบกและทางทะเล รวมทั้งเป็นแหล่งเสบียง พาหนะ และเป็นด่านป้องกันการล่วงล้ำเข้ามาของกองกำลังจากภายนอก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3 ) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยต้องทำสงครามกับเวียดนามด้วยเรื่องของกัมพูชาอยู่นานถึง 14 ปี จึงต้องทรงสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้กับพื้นที่ภาคตะวันออก ด้วยการยกบ้านให้เป็นเมือง และสร้างเมืองที่เป็นป้อมปราการเข้มแข็งเพื่อป้องกันศัตรูที่จะรุกเข้ามาทางทะเลอีกด้วย