Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา โดยมีรูปแบบดังนี้ R1 ศึกษาเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการปรึกษากลุ่มบูรณาการพหุทฤษฎีและเหตุผลเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ของผู้ต้องขังหญิง D1 สร้างและตรวจสอบรูปแบบการปรึกษากลุ่มบูรณาการพหุทฤษฎี ต่อเหตุผลเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ R2 ทดลองใช้กับผู้ต้องขังหญิง จำนวน 5 ครั้ง D2 ศึกษาผลของโปรแกรมการปรึกษากลุ่มบูรณาการพหุทฤษฎี จากนั้นทำการรับรองรูปแบบการปรึกษากลุ่มบูรณาการพหุทฤษฎี กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ต้องขังหญิงที่มีคดีต้องโทษ 10 ปีขึ้นไป ที่อยู่ในทัณฑสถานหญิงชลบุรี ที่มีคะแนนแบบวัดเหตุผลเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ ในระดับต่ำกว่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 25 จากนั้นให้ทำแบบประเมินการฆ่าตัวตาย 8 คำถาม (8Q) ของกรมสุขภาพจิต และคัดเลือกเฉพาะผู้ที่ได้คะแนน 8Q เท่ากับ 0 และได้สอบถามความสมัครใจเพื่อเข้าร่วมโปรแกรม ได้จำนวน 22 คน สุ่มอย่างง่าย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลอง จำนวน 11 คน และกลุ่มควบคุม จำนวน 11 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบวัดเหตุผลเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ แบบประเมินการฆ่าตัวตาย 8 คำถาม (8Q) และโปรแกรมการปรึกษากลุ่มบูรณาการพหุทฤษฎีระหว่างทฤษฎีอัตถิภาวะนิยมและทฤษฎีเผชิญความจริง การทดลองแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะ ก่อนทดลอง ระยะหลังทดลอง และระยะติดตามผล โดยกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการปรึกษากลุ่มบูรณาการพหุทฤษฎี สัปดาห์ละ 3 ครั้ง จำนวน 6 สัปดาห์ รวมเป็น 17 ครั้ง ครั้งละ 60-90 นาที และกลุ่มควบคุม ไม่ได้รับโปรแกรมการปรึกษากลุ่มบูรณาการพหุทฤษฎี
ผลการวิจัย พบว่า มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิธีการทดลองกับระยะเวลาการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผู้ต้องขังหญิงที่ได้รับโปรแกรมการปรึกษากลุ่มบูรณาการพหุทฤษฎีมีเหตุผลเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ในระยะหลังทดลองและระยะติดตามผลสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และผู้ต้องขังหญิงที่ได้รับโปรแกรมการปรึกษากลุ่มบูรณาการพหุทฤษฎีมีเหตุผลเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ในระยะหลังทดลองและระยะติดตามผลสูงกว่าในระยะ ก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05