Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ในวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการสัตหีบ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง นักเรียน วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการสัตหีบ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประจำปีการศึกษา 2558 (Krejcie & Morgan, 1970, pp. 607-610) จำนวน 214 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับปัญหาการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการสัตหีบ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating scale) และแบบสัมภาษณ์เกี่ยวกับแนวทางพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการสัตหีบ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ค่าอำนาจจำแนกรายข้ออยู่ระหว่าง 0.34-0.65 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.94 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าคะแนนเฉลี่ย ( ) และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ปัญหาการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ในวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการสัตหีบ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยรวมและรายด้าน อยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านเรียงตามลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ ด้านการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล ด้านการส่งต่อนักเรียน และด้านการส่งเสริมนักเรียน ตามลำดับ
2. แนวทางการพัฒนาการดำเนินงานของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ในวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการสัตหีบ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีดังนี้ ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ช่วยผู้บริหารทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และให้การสนับสนุนการดำเนินงานหรือร่วมกิจกรรมตามความเหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ ครูทุกคนและผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีความตระหนักในความสำคัญของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีทัศนคติที่ดีต่อนักเรียน และมีความสุขที่จะพัฒนานักเรียนในทุกด้าน คณะกรรมการหรือคณะทำงานทุกคณะ ต้องมีการประสานงานอย่างใกล้ชิด และมีการประชุมในแต่ละคณะอย่างสม่ำเสมอตามที่กำหนด ครูที่ปรึกษาเป็นบุคลากรหลักในการดำเนินงาน โดยต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย การอบรมให้ความรู้และทักษะ รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูล ความรู้แก่ครูที่ปรึกษาหรือผู้เกี่ยวข้องในเรื่องที่เอื้อประโยชน์ต่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสิ่งที่จำเป็นโดยเฉพาะเรื่องทักษะการปรึกษาเบื้องต้น และแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของนักเรียนซึ่งโรงเรียนควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ