Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงพรรณนาในรูปแบบวิจัยเชิงความสัมพันธ์ มีวัตถุประสงค์ เพื่อหาความสัมพันธ์ของปัจจัยแรงจูงใจในการป้องกันโรคต่อการรับบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ ตำบลแสนสุข กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุ ที่ได้รับและไม่ได้รับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ จำนวน 196 คน ระยะเวลาเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และหาความสัมพันธ์ด้วยไคสแควร์ ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 63.3 มีอายุเฉลี่ย 65.8 ปี (SD = 4.27) ส่วนใหญ่ระดับการศึกษาชั้นประถมศึกษา ร้อยละ 73.0 ประสบการณ์การเจ็บป่วยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาผู้สูงอายุเคยมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ร้อยละ 30.1 มีประวัติการแพ้ไก่หรือไข่ ร้อยละ 1.0 ประวัติการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้สูงอายุหรือบุคคลในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่เพียง ร้อยละ 6.1 ผู้สูงอายุมีแรงจูงใจในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 74.5โดยมีการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่อยู่ในระดับสูง ร้อยละ 69.9 การรับรู้ความสามารถตนเองใน การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ร้อยละ 60.2 ปัจจัยแรงจูงใจในด้านการรับรู้ความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ร้อยละ 54.1 และความคาดหวังในประสิทธิผลของการตอบสนองต่อการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ร้อยละ 48.5 อยู่ ในระดับปานกลาง พบว่าการรับรู้ความสามารถตนเองในการป้องกันโรคมีความสัมพันธ์กับการรับบริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2 = 9.002, value = 0.003 ผลการศึกษาสามารถนำไปเป็นฐานข้อมูลการสร้างแรงจูงใจในการรับบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ผู้สูงอายุมีความต้องการรับบริการฉีดวัคซีนและเดินทางไปรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งส่งเสริมให้รับบริการต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี สนับสนุนให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการรับบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ในสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง