Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยส่วนบุคคล ความเข้มข้นของปริมาณฝุ่นไม้เอ็มดีเอฟ ต่ออาการผิดปกติระบบทางเดินหายใจของผู้ปฏิบัติงานโรงงานเฟอร์นิเจอร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา กลุ่มตัวอย่างคือผู้ที่ปฏิบัติงานในโรงงานเฟอร์นิเจอร์ 3 แห่ง จำนวน 162 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ และเก็บตัวอย่างอากาศ เพื่อประเมินความเข้มข้นฝุ่นไม้เอ็มดีเอฟโดยใช้ IOM sampler ผลการศึกษาพบว่าความเข้มขนฝุ่นไม้เอ็มดีเอฟเฉลี่ยเรขาคณิต (GM)2.21 มก./ลบ.ม (SD = 3.49) อาการผิดปกติระบบทางเดินหายใจ พบว่า ส่วนใหญ่มีอาการระคายเคืองคันแสบออกร้อน แห้งของจมูก ลำคอ จำนวน 56 คน (ร้อยละ 34.6) อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล คันจมูก เมื่อสัมผัสฝุ่น จำนวน 28 คน (ร้อยละ 17.3) และอาการหอบหืด จำนวน 6 คน (ร้อยละ 3.7) การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่ออาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจส่วนบน พบว่าลักษณะกลุ่มงานผลิตชิ้นส่วนไม้มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มสำนักงาน 3.54 เท่า โดยมีค่า OR (95% CI) เท่ากับ 3.54 (1.112-12.608) และ ผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสฝุ่นไม้เอ็มดีเอฟความเข้มข้นสูงกว่า 5 มก./ลบ.ม มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มที่ สัมผัสต่ำกว่า 5 มก./ลบ.ม 3.06 เท่า โดยมีค่า OR (95% CI) เท่ากับ 3.06 (1.353-6.917) การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่ออาการระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง พบว่า ประวัติการสัมผัสฝุ่นในอดีตมีผลอาการผิดปกติ ระบบทางเดินหายใจส่วนล่างมากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติสัมผัสฝุ่นในอดีต 2.33 เท่า โดยค่า OR (95% CI) เท่ากับ 2.33 (0.42-12.87) ผลการศึกษาสมรรถภาพปอด พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีสมรรถภาพผิดปกติ จำนวน 54 คน (ร้อยละ 33.3) ปัจจัยที่ส่งผลต่อสมรรถภาพปอด พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงน้อยกว่า ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ 0.17 เท่า โดยมีค่า OR (95% CI) เท่ากับ 0.17(0.05-0.53) งานวิจัยนี้พบผลกระทบต่อความผิดปกติระบบทางเดินหายใจคือลักษณะงานงานผลิตชิ้นส่วนไม้และความเข้มข้นของฝุ่นไม้เอ็มดีเอฟ ควรกำหนดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับประวัติ การสัมผัสฝุ่นในอดีตของผู้ปฏิบัติงานเฟอร์นิเจอร์และสถานที่ปฏิบัติงานควรมีปริมาณฝุ่นไม้เอ็มดีเอฟน้อยกว่า 5 มก./ลบ.ม