Abstract:
ผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดีและผู้สูงวัยที่มีโรคเรื้อรังแต่ก็สามารถดูแลตนเองได้ดี นับว่าเป็นบุคคลต้นแบบ สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ ภูมิปัญญาและความรู้ฝังลึก เป็นประโยชน์ต่อคนรอบข้างได้ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงเพื่อพัฒนาหลักสูตรอบรมทักษะการจัดการความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้ผู้สูงวัยทำหน้าที่จัดการเพื่อให้ความรู้ภูมิปัญญาที่มีอยู่ในตัวตนของผู้สูงวัยเอง และของกลุ่มผู้สูงวัยด้วยกันเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น การวิจัยดำเนินการเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 เสาะหา ศึกษาปัญหาความต้องการการพัฒนาของผู้สูงวัย ได้ผู้สูงวัยจำนวน 38 คน ระยะที่ 2 ยกร่างหลักสูตรอบรมจากข้อมูลระยะที่ 1 พิจารณาความเป็นไปได้ ความเหมาะสมของหลักสูตรโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน หลักสูตรจำนวน 45 ชั่วโมง พัฒนามาจากแนวคิดชุมชนนักปฏิบัติ (CoP.) การเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และแนวคิดมนุษยนิยม การจัดการเรียนการสอน เน้นการศึกษาเฉพาะกรณี การฝึกการแสดงออก การเป็นผู้นำการถ่ายทอด เล่าเรื่อง แบ่งปันประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความรู้ฝังลึก ถอดบทเรียนและบันทึกในเรื่องที่สนใจ ทำการวัดประเมินผลผู้เรียนด้วยการประเมินผลสัมฤทธิ์ร่วมกับการประเมินตนเองของผู้เรียน ระยะที่ 3 ประเมินประสิทธิภาพของหลักสูตรด้วยการวิเคราะห์ค่าสถิติ t เปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยก่อน-หลัง การใช้หลักสูตร รวบรวมข้อมูลด้วยเครื่องมือวัดความรู้เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพการจัดการความรู้ และการประเมินตนเองด้านทักษะการแสดงออกของผู้นำ เครื่องมือมีความตรงตามเนื้อหาค่าความเที่ยงวิเคราะห์ด้วยสถิติ KR-20 เท่ากับ 0.89, 0.76 และ 0.79 ตามลำดับ ผลการทดลองใช้หลักสูตร พบว่า ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ และทักษะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (ค่า t=3.70, 10.78 และ 7.25 ตามลำดับ) แสดงว่าหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ