Abstract:
งานวิจัยนี้มุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบทัศนคติของผู้เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีต่อมาตรการควบคุมความต้องการเดินทาง และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติเพื่อหาแนวทางในการทำให้มาตรการควบคุมความต้องการเดินทางรวมถึงมาตรการแก้ไขปัญหาจราจรอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนและนำไปสู่การประยุกต์ใช้มาตรการเหล่านี้อย่างยั่งยืนในที่สุด มาตรการควบคุมความต้องการเดินทางที่ใช้เป็นกรณีศึกษา ได้แก่ มาตรการเก็บเงินค่าผ่านเข้าใช้ถนน (Road pricing) งานวิจัยนี้ใช้เขตบางรักเป็นพื้นที่ศึกษา การตรวจสอบทัศนคติของกลุ่มเป้าหมายใช้วิธีสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถาม ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยวิธีแบบจำลองสมการเชิงโครงสร้าง (Structural Equation Modeling, SEM) ผลการวิเคราะห์พบว่าการรับรู้ประสิทธิภาพของมาตรการ บรรทัดฐานของสังคม และการตระหนักถึงปัญหาในระดับบุคคลเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการยอมรับสูงสุด รองลงมาได้แก่บรรทัดฐานของสังคม และการตระหนักถึงปัญหาในระดับบุคคล ตามลำดับ ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลมีแนวโน้มที่จะไม่ให้การยอมรับมาตรการเก็บเงินค่าผ่านเข้าใช้ถนน ขณะที่ผู้มีรถยนต์ไว้ในครอบครองมีแนวโน้มที่จะไม่ให้ความสำคัญกับมาตรการดังกล่าว ผลการวิจัยเสนอว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้มาตรการควบคุมความต้องการเดินทาง อาทิ มาตรการเก็บเงินค่าผ่านเข้าใช้ถนน ฯลฯ และนโยบายสาธารณะอื่นๆ ประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้นั้น ผู้วางแผนควรให้ความสำคัญกับทัศนคติและการยอมรับของคนในชุมชนต่อมาตรการหรือนโยบายที่จะนำมาประยุกต์ใช้เป็นสำคัญทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติของการดำเนินมาตรการของภาครัฐ และการแก้ไขปัญหาจราจรด้วยมาตรการควบคุมการเดินทางอย่างยั่งยืนในที่สุด