Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ เพื่อศึกษาภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและกลุ่มอาการเมตะบอลิคและการศึกษารับรู้พฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพและการสนับสนุนทางสังคม รวมทั้งศึกษาแนวทางในการแก้ปัญหาของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา ประชากร คือ นิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา ชั้นปีที่ 1 ที่มารับบริการตรวจสุขภาพก่อนเข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัยบูรพา จำนวน 4,125 คน มี Inclusion Criteria ดังนี้ คือ 1) มีเส้นรอบเอว ในผู้ชายมากกว่าหรือเท่ากับ 90 เซนติเมตร ในผู้หญิงมากกว่าหรือเท่ากับ 80 เซนติเมตร 2) มี 2 ปัจจัยใน 4 ปัจจัยต่อไปนี้ 2.1 ระดับไตรกรีเซอร์ไรด์ในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 2.2 ระดับ HDL-C ในผู้ชายน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในผู้หญิงน้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 2.3 ความดันเลือด Systolic มากกว่าหรือเท่ากับ 130 มิลลิเมตรปรอท Diatolic มากกว่าหรือเท่ากับ 85 มิลลิเมตรปรอท หรือเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง 2.4 ระดับกลูโคสในเลือด FPG (Fasting plasma glucose) มากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งจากการคัดกรองตาม Criteria ในข้อที่ 1 พบว่า มีนิสิตที่มีขนาดรอบเอวเกินมาตรฐานจำนวน 323 คน คิดเป็นร้อยละ 7.83 ของกลุ่มประชากรทั้งหมด เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ คือ แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบบันทึกการตรวจร่างกายและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ แบบสัมภาษณ์เกี่ยวกับแนวทางในการแก้ปัญหา ซึ่งทำการตรวจสอบเครื่องมือโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นค่าสถิติความถี่และร้อยละ และการวิเคราะห์เนื้อหาที่ได้จากการสัมภาษณ์ (Content analysis) ซึ่งได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลในระหว่างเดือนตุลาคม 2548-กันยายน 2550 เป็นระยะเวลา 2 ปี เนื่องจากมีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจกับกลุ่มตัวอย่างและการนัดหมายเพื่อคัดกรองนิสิตตามเกณฑ์ของการวิจัย ผลการศึกษาวิจัยพบว่า มีนิสิตจำนวน 323 คน มีขนาดของเส้นรอบเอวเกินมาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 7.83 และเมื่อจำแนกตามเพศ พบว่า เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย (เพศหญิงร้อยละ 59.44, เพศชายร้อยละ 40.56) จากการคัดกรองนิสิตที่มีขนาดรอบเอวเกินจำนวน 323 คน พบว่า 1. มีนิสิตที่มีความดันเลือด Systolic มากกว่าหรือเท่ากับ 130 มิลลิเมตรปรอท Diatolic มากกว่าหรือเท่ากับ 85 มิลลิเมตรปรอทหรือเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงจำนวน 23 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.12 พบในเพศชาย (ร้อยละ 9.81) มากกว่าเพศหญิง (ร้อยละ 5.73) 2. ผลการตรวจระดับไตรกรีเซอร์ไรด์ในเลือด มากกว่าหรือเท่ากับ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จำนวน 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.09 และพบในเพศชาย (ร้อยละ 5.34) มากกว่าเพศหญิง (ร้อยละ 1.56) 3. ผลการตรวจระดับ HDL-C ในผู้ชายน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในผู้หญิงน้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จำนวน 8 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.47 พบในเพศชาย (ร้อยละ 3.05) มากกว่าเพศหญิง (ร้อยละ 2.15) 4. ไม่พบนิสิตที่ตรวจระดับกลูโคสในเลือด FPG (Fasting plasma glucose) มากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จากผลการวิเคราะห์ Inclusion Criteria เพื่อคัดกรองนิสิตที่มีภาวะ Metabolic Syndrome พบว่าเป็นเพศชาย 7 คน (ร้อยละ 5.34) เพศหญิง 3 คน (ร้อยละ 1.56) รวมเป็น 10 คน คิดเป็นร้อยละ 3.09 ผลการสัมภาษณ์นิสิตที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและกลุ่มอาการเมตะบอลิคจำนวน 10 ราย ด้านการรับรู้ภาวะสุขภาพและพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพพบว่า นิสิตส่วนใหญ่รับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดโรค แต่ส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมในการชอบรับประทานอาหารประเภทขนมขบเคี้ยวที่มีลักษณะเป็นขนมถุงกรุบกรอบ โดยที่มักจะรับประทานในเวลาว่างระหว่างมื้อ ส่วนขนมหวานมีบางคนเท่านั้นที่ชอบรับประทาน และเครื่องดื่มที่ขาดไม่ได้คือ น้ำหวานหรือน้ำอัดลม ส่วนพฤติกรรมการออกกำลังกาย ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้ออกกำลังกายหรือออกกำลังกายน้อยกว่าสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ส่วนใหญ่ชอบเล่นกีฬาแต่ติดภารกิจในการเรียน และมีการบ้านมาก ทำให้ไม่มีเวลาไปออกกำลังกาย กีฬาที่นิสิตชายส่วนใหญ่ชื่นชอบคือ ฟุตบอล ส่วนนิสิตหญิง คือ การเล่นแบดมินตันหรือแอโรบิค การรับรู้เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตนเอง นิสิตส่วนใหญ่ต้องการลดน้ำหนักและสัดส่วนให้ได้ตามขนาดมาตรฐาน เพื่อให้มีความคล่องแคล่วว่องไวขึ้นในการทำกิจกรรมต่างๆ และสามารถเลือกซื้อเสื้อผ้าสวมใส่ได้ง่ายและสวยงาม การรับรู้เกี่ยวกับความสามารถของตนเองในการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย ส่วนใหญ่คิดว่าเป็นสิ่งที่ยาก เพราะเคยใช้หลายๆวิธีแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากขาดความมีวินัยในการควบคุมตนเองและบางครั้งก็ต้องการให้มีผู้อื่นเป็นผู้ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือสนับสนุนในการควบคุมน้ำหนักและการออกกำลังกาย ผู้ที่นิสิตรับรู้ว่ามีอิทธิพลต่อตนเองในการควบคุมพฤติกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ที่สำคัญที่สุดคือ ตนเอง เพื่อน และตัวอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมพฤติกรรม การสนับสนุนทางสังคมที่นิสิตต้องการมากที่สุด คือ การสนับสนุนด้านอารมณ์ เนื่องจากนิสิตส่วนใหญ่ต้องการให้มีผู้คอยช่วยเหลือ เอาใจใส่ เห็นอกเห็นใจและเป็นกำลังใจในการพัฒนาปรับปรุงเพื่อควบคุมพฤติกรรมในการส่งเสริมสุขภาพ ส่วนการสนับสนุนเชิงการประเมินค่า นิสิตให้ความสำคัญเป็นอันดับรองลงมา โดยมีความเห็นว่า หากได้รับการเสริมแรง การช่วยเหลือโดยการจัดโปรแกรมการควบคุมและลดน้ำหนัก รวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพที่ถูกต้อง จะทำให้เขาสามารถเลือกแนวทางปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองได้ดีขึ้น ข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหา คือ 1. ควรมีการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์แจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพฤติกรรมการส่งเสรมสุขภาพให้มากขึ้น 2. ควรจัดให้มีการจัดตั้งชมรม “นิสิตรักษ์สุขภาพ” และสร้างช่องทางการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่าย Internet หรือ Intranet 3. ควรจัดโปรแกรมการควบคุมพฤติกรรมและการพัฒนาร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานภายใต้คำแนะนำและการให้คำปรึกษาของผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพทั้งทางด้านโภชนาการ จิตวิทยา และการออกกำลังกาย 4. ควรมีรูปแบบของการติดตาม ประเมินผล และสร้างความยั่งยืนในการมีพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของนิสิต และการคัดกรองนิสิตที่อาจจะเข้าเกณฑ์การวินิจฉัยที่มีความไวในการตรวจสอบให้เกิดความครอบคลุมนิสิตทั้งมหาวิทยาลัย 5. ควรบูรณาการความร่วมมือจากทุกคณะในการสร้างพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพให้เกิดกับนิสิตทุกคน