Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ทดลองใช้กิจกรรม “จริยธรรมต่อสังคม” ที่มีต่อการพัฒนาจิตสาธารณะของนิสิตรายวิชา 265109 มนุษยศาสตร์เชิงบูรณาการ และ 2) ศึกษาผลการใช้กิจกรรม “จริยธรรมต่อสังคม” ที่มีต่อการพัฒนาจิตสาธารณะของนิสิตรายวิชา 265109 มนุษยศาสตร์เชิงบูรณาการกลุ่มเป้าหมายคือ นิสิตที่ลงทะเบียนเรียนวิชา 265109 มนุษยศาสตร์เชิงบูรณาการกลุ่ม 13 ชั้นปีที่ 1 จำนวน 66 คน เครื่องมือในการศึกษาวิจัยครั้งนี้คือ แบบสอบถามแบบเลือกตอบ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) และแบบสอบถามแบบปลายเปิด ผลการศึกษาพบว่า
1. นิสิตที่ลงทะเบียนเรียนวิชา 265109 มนุษยศาสตร์เชิงบูรณาการ ชั้นปีที่ 1 กลุ่ม 13 ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 78.8 และส่วนใหญ่เรียนในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ร้อยละ 59.1
2. นิสิตผู้ตอบแบบสอบถามมีระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการใช้กิจกรรม “จริยธรรมต่อสังคม” ที่มีต่อการพัฒนาจิตสาธารณะ โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( x =4.50) เมื่อเรียงตามลำดับคะแนนเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก คือ ความพึงพอใจของนิสิตที่มีต่อกิจกรรม “จริยธรรมต่อสังคม” อยู่ในระดับมากที่สุด ( x =4.70) อันดับที่สอง คือ กิจกรรม “จริยธรรมต่อสังคม” ทำให้นิสิตตระหนักถึงการทำประโยชน์เพื่อสังคมยู่ในระดับมากที่สุด ( x =4.58) อันดับสุดท้ายคือ กิจกรรม “จริยธรรมต่อสังคม” ทำให้นิสิตมีกำลังใจในการกระทำสิ่งดีๆ เพื่อบุคคลอื่นและส่วนรวมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และกิจกรรม “จริยธรรมต่อสังคม” ทำให้นิสิตได้รับประสบการณ์ตรงจากการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอยู่ในระดับมากที่สุด ( x =4.55)
3. เมื่อนิสิตทำกิจกรรรม “จริยธรรมต่อสังคม” มีผลต่อการพัฒนาจิตสาธารณะของนิสิต ดังนี้ 1) ลดความเห็นแก่ตัว 2)มีความรู้สึกอยากช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้นและทำแล้วไม่หวังผลตอบแทนกลับมา 3) เปิดใจกว้างมองสังคมกว้างขึ้น กล้าคิด กล้าทำ 4) เป็นคนคิดบวกมากขึ้น 5) ได้ทำสิ่งที่บางคนที่คิดว่าเล็กๆแต่ทำแล้วให้ประโยชนมากในสังคม 6) รู้สึกอิ่มใจเมื่อเป็นผู้ให้ สิ่งที่ได้ทำกิจกรรมทำให้ตนเองมีคุณค่ามากขึ้น 7) เมื่อมีโอกาสจะร่วมกลุ่มทำกันอีกเรื่อยๆ และเมื่อสรุปผลออกมาเป็นในแต่ละด้านพบว่า 1) ผลที่มีต่อตนเอง ทำให้นิสิตได้ฝึกการเป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน อยากช่วยเหลือสังคม เมื่อมีโอกาส เป็นการพัฒนาตนเองทั้งด้านความคิด สังคม และได้ประสบการณ์ตรงในการทำงาน ฝึกให้ตนเองเป็นผู้รู้จักการทำประโยชน์ให้กับบุคคลอื่น 2) ผลต่อกลุ่มที่ได้ทำกิจกรรมรวมกัน พบว่า นิสิตยอมรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนคนอื่น ได้รับมิตรภาพระหว่างเพื่อน ฝึกการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น มีความสามัคคีมากขึ้น และ 3) ผลต่อสังคม พบว่านิสิตส่วนใหญ่คิดว่าเป็นการปลูกฝังสิ่งดรงามให้กับรุ่นน้องที่เป็นรูปธรรม สังคมกลายเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยการเอื้อเฟื้อ เสียสละ เห็นความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเอง