Abstract:
ลักษณะของกลุ่มเป้าหมาย:
ผู้ถูกควบคุมในสถานควบคุมทั้ง 5 แห่ง ในจังหวัดชลบุรี มีประมาณ จำนวน 8,267 คน (ข้อมูล ณ 13 มีนาคม 2552) สังคมของผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นสังคมที่มีความซับซ้อน มีความแตกต่างจากสังคมโดยทั่วไป มีลักษณะเฉพาะทั้งวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ หรือพฤติกรรม สังคมของผู้ต้องขังประกอบไปด้วยผู้ต้องขังจำนวนเป็นร้อยเป็นพันมาอยู่รวมกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความแออัด อาจทำให้เกิดโรคระบาด และโรคติดต่อในเรือนจำ ปัจจุบันปัญหาโรคเอดส์ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญในสถานควบคุม แต่เดิมห้ามแจกถุงยางอนามัยให้ผู้ต้องขัง เพราะเชื่อว่าเป็นการส่งเสริมให้ผู้ต้องขังมีเพศสัมพันธ์ แต่ในปัจจุบันได้มีการยอมรับปัญหามากขึ้น เพราะอาจมีผู้ติดเชื้อที่ถูกควบคุมอยู่ ยากที่จะป้องกันไม่ให้มีการร่วมเพศกับผู้อื่น บางรายถูกปล่อยตัวออกไปแล้วกระทำผิดกลับเข้ามาอีก มีโอกาสแพร่เชื้อเอดส์สู่ผู้อื่น จึงส่งผลต่อผู้ถูกควบคุมในสถานควบคุมแล้วยังส่งผลต่อสังคมนอก จากข้อมูลการวิจัยเพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมการป้องกันโรคเอดส์ในสถานควบคุม พบว่า ผู้ถูกควบคุมส่วนใหญ่เป็นวัยเจริญพันธ์ ถูกตัดสินจากคดียาเสพย์ติด โดยประวัติพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสักหรือฝังมุกหรือทำแคปมาก่อน รวมถึงเคยมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่คู่สมรสหรือแฟนมาก่อน 1-5 คน และมีอัตราการมีเพศสัมพันธ์ภายในสถานควบคุมประมาณ ร้อยละ 10 ของผู้ถูกควบคุมทั้งหมด
กลวิธีการดำเนินการ:
1. จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหา ในปีงบประมาณ 2552
2. การอบรมให้ความรู้ความเข้าใจโรคเอดส์ และการให้การปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่ในสถานควบคุมทั้ง 6 แห่ง เพื่อให้สามารถนำความรู้ความเข้าใจไปขยายผลในการดูแลและเป็นพี่เลี้ยง อาสาสมัครเพื่อนช่วยเพื่อนในสถานควบคุมของตนเอง
3. จัดอบรมอาสาสมัครเพื่อนช่วยเพื่อน โดยคัดเลือกผู้ที่มีจิตอาสา มีวุฒิภาวะ อ่านออกเขียนได้ มีภาวะผู้นำ มนุษยสัมพันธ์ดี และมีระยะเวลาในการถูกควบคุมมากกว่า 1-5 ปี ตลอดจนจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ในสถานควบคุม
การพัฒนาสมรรถนะผู้ที่เกี่ยวข้อง:
การดำเนินโครงการอบรมเจ้าหน้าที่และแกนนำอาสาสมัครเพื่อนช่วยเพื่อน จัดหลักสูตรไว้ 6 ครั้ง อบรมเจ้าหน้าที่ 1 ครั้ง เพื่อนำความรู้ความเข้าใจไปดูแลแกนนำ ฯ และอบรมแกนนำอาสาสมัครเพื่อนช่วยเพื่อน จำนวน 5 ครั้ง ครั้งละแห่ง แห่งละ 1 วัน ซึ่งหลักสูตรที่ใช้ในการอบรม ประกอบด้วย การให้คำปรึกษาเบื้องต้น ประสบการณ์และการสร้างเครือข่าย และการใช้คู่มืออาสาสมัครเพื่อนช่วยเพื่อน ทั้งนี้ กิจกรรมการอบรมต่าง ๆ ใช้ทรัพยากรบุคคลของหน่วยงานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พยาบาล เป็นผู้ไปถ่ายถอดความรู้ทางวิชาการ โดยสลับหมุนเวียนไปช่วยหน่วยอื่น ๆ ตามตารางการอบรม ได้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยบูรพาซึ่งเป็นที่ปรึกษากลุ่มร่วมเป็นวิทยากร ได้หน่วยงานที่ทำงานด้านเอดส์โดยตรงจาก สวิง และเครือข่ายสายธาร ซึ่งเป็นชมรมผู้รับเชื้อเอดส์มาถ่ายทอดประสบการณ์และการทำงานด้านเครือข่าย และหลังเสร็จสิ้นการอบรม ทางประธานกลุ่มได้นัดประชุมสรุปผลอีก 3 ครั้งตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณ มีการประเมินผลโดยใช้ CIPP Model
สัมฤทธิ์ผลของโครงการ:
1. อัตราความเสร็จตามแผนปฏิบัติ ร้อยละ 55 (11 ตัวชี้วัด) ของตัวชี้วัดทั้งหมด (20 ตัวชี้วัด) ซึ่งตัวชี้วัดบางตัวไม่สามารถกำหนดหรือดำเนินการได้เองจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานซึ่งต้องเป็นนโยบายระดับผู้บริหารในระดับต่าง ๆ เป็นการกำหนดจึงทำให้บรรลุได้ ตัวอย่างเช่น การจัดให้มีแพทย์หมุนเวียนเพื่อการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ การบริการถุงยางอนามัยในสถานควบคุมทุกแห่ง ซึ่งจะส่งผลต่อการเก็บข้อมูลอัตราการใช้ถุงยางอนามัยได้อย่างชัดเจน รวมถึงการกำหนดการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก
2. ปัจจัยนำเข้าต่าง ๆ มีการเตรียมความพร้อมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดระยะเวลาให้ทันตามกรอบงบประมาณ และบทบาทผู้รับผิดชอบในภารกิจต่าง ๆ อย่างชัดเจน ทั้งนี้สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นประธานกลุ่มสถานควบคุม ทำหน้าที่ในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการระดมความคิดในการจัดทำหลักสูตรอบรม ประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผนงาน/โครงการ การเบิกจ่ายงบประมาณ การจัดการด้านเอกสารวิชาการและการเงิน เตรียมอุปกรณ์ในการอบรม ติดต่อวิทยากร สรุปผลตามวาระการประชุม และจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงาน
3. มีเครือข่ายเจ้าหน้าที่ที่เข้มแข็งในการปฏิบัติงานในการป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ในสถานควบคุมทั้ง 5 แห่ง
4. มีแกนนำ “เพื่อนช่วยเพื่อน” เป็นเครือข่ายรณรงค์ ป้องกันโรคเอดส์ในสถานควบคุมทั้ง 5 แห่ง
5. มีคู่มือแกนนำ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ในการปฏิบัติงานในการควบคุมและป้องกันโรคเอดส์ในสถานควบคุม
ข้อจำกัด:
จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าอุปสรรคหรือปัญหาในการทำงานด้านเอดส์มีไม่มากนัก โดยสรุปในภาพรวมทั้ง 5 แห่ง มีอุปสรรคในการปฏิบัติงาน ดังต่อไปนี้
1. มีข้อจำกัดในการแจกถุงยางอนามัยในสถานพินิจ ฯ และสถานฟื้นฟู ฯ เนื่องจากมีกฎระเบียบของสถานควบคุม
2. ขาดแคลนแพทย์ที่จะเข้าไปให้บริการตรวจรักษาพยาบาลผู้ถูกควบคุม
3. ขาดแคลนงบประมาณในการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์
4. การบริการให้คำปรึกษา บางสถานที่ใช้เรือนพยาบาล คนไข้มาก ทำให้ไม่เป็นส่วนตัว ต้องการความเป็นส่วนตัว
5. มีภาระงานต้องทำมาก ทำให้การดำเนินกิจกรรมด้านเอดส์ล่าช้า
6. การเตรียมการในการจัดกิจกรรมอบรมแกนนำอาสาสมัครเพื่อนช่วยเพื่อน มีเวลาเตรียมการน้อยเกินไป
7. การจัดกิจกรรมการอบรมควรมีระยะเวลาประมาณ 2-3 วัน และเพิ่มกิจกรรมมากกว่าการนั่งฟังบรรยาย
การดำเนินการต่อเนื่อง
1. จัดประชุมผู้รับผิดชอบเพื่อวางแผนการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องทุกปี
2. การอบรมฟื้นฟู แกนนำเพื่อนช่วยเพื่อน อย่างต่อเนื่องทุกปี โดยพัฒนาให้แกนนำมีศักยภาพสูง
3. แกนนำมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าหน้าที่พยาบาลเป็นพี่เลี้ยง และรายงานผลการปฏิบัติงานทุกสัปดาห์
ข้อเสนอแนะ:
1. กำหนดนโยบายให้สถานควบคุมทุกแห่งมีถุงยางอนามัยป้องกันโรคเอดส์ ออกกฎระเบียบหรือข้อบังคับให้เจ้าหน้าที่สามารถให้บริการถุงยางอนามัยในสถานควบคุมทุกแห่งเพื่อป้องกันการติดต่อโรคทางเพศสัมพันธ์
2. กำหนดผู้รับผิดชอบงานในการวางแผนงานด้านโรคเอดส์ในสถานควบคุม โดยบูรณาการงานด้านต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
3. จัดแพทย์หมุนเวียนไปให้บริการตรวจรักษาในสถานควบคุมทุกแห่ง
4. จัดอบรมฟื้นฟูอาสาสมัครเพื่อนช่วยเพื่อนรุ่นเก่า เละเพิ่มเติมแกนนำรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพสูง
5. สนับสนุนงบประมาณในการจัดสื่อประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลิตสื่อที่ตรงกับสภาพปัญหาของแต่ละหน่วยงาน
6. จัดศึกษาดูงานหน่วยงานที่มีผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ได้สูงสุด