Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าใจปัญหา ความต้องการ ศักยภาพ และรูปแบบในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์โดยครอบครัว ในเขตจังหวัดระยอง กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ที่มารรับบริการที่โรงพยาบาลเมืองระยองและมาร่วมกิจกรรมชมรมผู้ติดเชื้อ จำนวน 132 คน และ 59 ครอบครัว สำหรับการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ในระดับครอบครัวจำนวน 16 ครอบครัว เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณด้วยแบบสอบถาม และเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยค่าสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสหสัมพันธ์เพียร์สัน ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการศึกษาพบดังนี้
1. สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบของการดูแลในระดับครอบครัว พบว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์และผู้ดูแลในครอบครัวได้รับการสนับสนุนทางสังคมจากครอบครัวในระดับมาก มีความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองอยู่ในระดับสูง มีความสัมพันธ์กับผู้ดูแลในครอบครัวอยู่ในระดับสูงและมีความต้องการการดูแลอยู่ในระดับปานกลาง และผู้ดูแลในครอบครัวมีทัศนคติต่อการติดเชื้อเอชไอวีในระดับดี
1.1 การสนับสนุนทางสังคมจากครอบครัวของครอบครัวผู้ดูแลมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวผู้ดูแลและผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองของครอบครัวผู้ดูแลมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวผู้ดูแลและผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วย การสนับสนุนทางสังคมจากครอบครัวของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ และทัศนคติของครอบครัวผู้ดูแลต่อการติดเชื้อเอชไอวีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
1.2 ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์รู้สึกถูกจำกัดอิสระภาพ รู้สึกเป็นปมด้อย วิตกกังวลว่าคนอื่นจะรู้ว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี กลัวสังคมรังเกียจ และกลัวให้ออกจากงาน ครอบครัวเข้าใจปัญหาและความต้องการของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ครอบครัวเชื่อว่าเอดส์เป็นเพียงโรคโรคหนึ่งเมื่อเป็นแล้วก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ และเชื่อว่าการติดเชื้อเอชไอวีช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว สมาชิกครอบครัวมีความสัมพันธภาพดีต่อกัน ครอบครัวพัฒนาความสามารถความมั่นใจและความภูมิใจในการดูแลผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ ไม่รู้สึกว่าการดูแลเป็นภาระ โดยภาพรวมครอบครัวมีความสุขตามอัตภาพ ครอบครัวหรือผู้ดูแลได้รับความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์จากการอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ ปรึกษาบุคลากรสุขภาพ และผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยแนะนำเหตุผลในการดูแลเพราะเป็นหน้าที่ สงสารไม่มีใครดูแล และดูแลเพราะความรัก นอกจากนี้การติดเชื้อเอชไอวีมีผลกระทบต่อครอบครัวในด้านสุขภาพกาย จิตสังคม และเศรษฐกิจ ครอบครัวรู้สึกไม่อิสระ กลัวสังคมรังเกียจ วิตกกังวล เครียด รู้สึกเป็นปมด้อย ผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ไม่ได้ทำงาน ทำให้ครอบครัวขาดรายได้
2. รูปแบบการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ในระดับครอบครัว ดังนี้
2.1 การยอมรับการติดเชื้อเอชไอวี ครอบครัวเชื่อว่าการยอมรับจากครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญมากของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ในการมีชีวิตอย่างมีความหวัง มีพลังที่จะต่อสู้ชีวิต
2.2 การไม่รังเกียจผู้ติดเชื้อเอชไอวี ครอบครัวเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ ครอบครัวอยู่ด้วยกันกับผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ได้ไม่รังเกียจ
2.3 การแสวงหาความรู้ เรียนรู้การดูแลและการช่วยเหลือ ครอบครัวพยายามหาข้อมูล แหล่งช่วยเหลือ และหาความรู้ในการดูแลผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยเอดส์จากหลายแหล่งและหลายวิธี
2.4 การสนับสนุนให้กำลังใจ ครอบครัวเชื่อว่าถ้าผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยเอดส์มีกำลังใจ ไม่เครียด จะมีชีวิตอยู่ต่อได้นานขึ้น โดยการพูดคุย อยู่เป็นเพื่อน และทำกิจกรรมด้วยกัน
2.5 การให้คำปรึกษา ครอบครัวเป็นที่ปรึกษาและที่พึ่งทางจิตใจและสังคมที่สำคัญของผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งเป็นความต้องการอย่างมากของผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์
2.6 การปกปิดความลับ ครอบครัวช่วยกันปกปิดเกี่ยวกับการติดเชื้อของสมาชิกในครอบครัวไม่ให้คนอื่นที่ผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยเอดส์ไม่ต้องการให้รู้
2.7 การเผชิญความเครียดและช่วยผ่อนคลายความเครียด ครอบครัวเชื่อว่าความเครียดมีผลต่อการลดภูมิต้านทานโรค ครอบครัวพยายามไม่ให้ผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยเกิดความเครียด
2.8 การปฏิบัติการดูแลรักษาสุขภาพ ประกอบด้วยด้าน
2.8.1 การดูแลเรื่องการให้ยาต้านไวรัสและยาฆ่าเชื้อ
2.8.2 การดูแลเรื่องอาหารที่มีประโยชน์ไม่รับประทานของแสลง
2.8.3 การป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาส
2.8.4 การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวี
2.8.5 การส่งเสริมสุขภาพ
2.8.6 การดูแลเมื่อเจ็บป่วย
2.8.7 การไม่แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลระหว่างครอบครัวที่มาดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาล
2.9 การบอกความจริงเกี่ยวกับโรค ครอบครัวต้องการให้แพทย์ผู้รักษาบอกความจริงตั้งแต่แรกว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร เพื่อที่ครอบครัวจะได้ปฏิบัติต่อผู้ป่วยได้ถูกต้อง
2.10 การคงไว้ซึ่งคุณค่า ศักดิ์ศรี และเกียรติยศของครอบครัว เมื่อครอบครัวเข้าใจความรู้สึกตนเอง ยอมรับความสามารถและเห็นคุณค่าของตนเอง ครอบครัวต้องการรักษาศักดิ์ศรี เกียรติยศไว้
3. รูปแบบการพัฒนาศักยภาพในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ เรียกว่าการสนทนาบำบัดครอบครัว ใช้ได้ผลดีกับทุกครอบครัว การทำการสนทนาบำบัดกับครอบครัวเฉลี่ย 4 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 2 สัปดาห์ ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวในทางที่ดีขึ้นคือ ครอบครัวมีพลังอำนาจในการดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์/ผู้ป่วยเอดส์ ความทุกข์ทรมานของครอบครัวลดลง และครอบครัวสามารถปรับสู่ภาวะสมดุล