Abstract:
ปัจจุบันผู้ประกอบการOTOPส่วนใหญ่ยังมีรูปแบบและลักษณะการดำเนินงานที่ไม่ทันสมัยและไม่สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนด้านสภาพแวดล้อมทางธุระกิจของไทยและตลาดโลก ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีจุดอ่อนด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริหารระบบการเงินและบัญชี รวมทั้งการบริหารโลจิสติกส์และการพัฒนาระบบโซ่อุปทานเชื่อมโยงระหว่างผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ ผู้จัดส่งวัตถุดิบจนกระทั่งถึงผู้แทนจำหน่าย ผู้กระจายสินค้าและลูกค้า วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้คือ เพื่อต้องการศึกษาการเปรียบเทียบเชิงประยุกต์ใช้การจัดการโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการของไทยและของต่างประเทศ รวมทั้งประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการโลจิสติกส์ การศึกษาครั้งนี้ใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา รวมทั้งทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานราชการเช่นกรมส่งเสริมการส่งออก และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น ผลการศึกษาพบว่า เริ่มมีผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้า OTOP บางรายเริ่มปรับปรุงวิธีการรับคำสั่งซื้อบ้างแล้ว โดยมีการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) สำหรับการค้ากับผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ยังคงมีจุดอ่อนหลายประการ นอกจากนี้ พบว่าผู้ประกอบการOTOPของไทยยังขาดระบบขนส่งและกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพและการขาดอำนาจการต่อรองกับผู้แทนจำหน่าย ผู้รับกระจายสินค้า และลูกค้า ทั้งนี้ในการพัฒนาธุรกิจ ผู้ประกอบการ OTOP ควรให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของไทยและตลาดโลก เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจของไทยต้องประกอบการภายใต้การเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัตน์