Abstract:
ความสำเร็จของพัฒนาการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งโครงการ "หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์" ในหลายประเภทได้รับการยอมรับว่าเป็นต้นแบบของผลิตภัณฑ์ OTOP ของประเทศไทย (โครงการไทยตำบล 2547) โดยเฉพาะการประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งของโครงการ "One Village One Product Movement" ของจังหวัดโออิตะ (Oita Prefecture) ประเทศญี่ปุ่น โดยโครงการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการให้แต่ละหมู่บ้านมีผลิตภัณฑ์หลักเป็นของตัวเอง โดยประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างงาน สร้างรายได้ด้วยการนำทรัพยากรและภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาพัฒนาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น อย่างไรก็ตามความสำเร็จของผู้ประกอบการดังกล่าวของ
ต่างประเทศไม่ได้ขึ้นแต่เพียงตัวผลิตภัณฑ์และการใช้กลยุทธ์การตลาดที่ดีเท่านั้น แต่ยังมีการนำเอาการจัดการโลจิสติกส์มาใช้ในการจัดการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ สินค้าและข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จะทำการศึกษา รูปแบบของการประยุกต์ใช้ระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมและผู้ประกอบการ OTOP ในประเทศประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้จะตรวจสอบประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับการนำเอาการจัดการโลจิสติกส์เข้ามาใช้ในการดำเนินงานเพื่อผลิตและจำหน่ายรวมทั้งจะตรวจสอบปัจจัยที่มีอิธิพลต่อการนำเอาระบบโลจิสติกส์เข้ามาประยุกต์ใช้ การศึกษาครั้งนี้จะเก็บข้อมูลทุติยภูมิโดยทบทวนวรรณกรรมจากประเทศต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการนำเอาโลจิสติกส์เข้ามาใช้กับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม นอกจากนี้ยังทำการเก็บข้อมูลปฐมภูมิโดยทำการสัมภาษณ์เชิงลึกจาก
ผู้เกี่ยวข้องและการใช้วิธีการสังเกตการณ์โดยเดินทางไปดูงานในประเทศออสเตรเลีย ผลการสำรวจพบว่าแรงกดดันจากการแข่งขันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศต่างๆมีการตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของการจัดการโลจิสติกส์ รวมทั้งมีการนำเอาเทคนิคและการจัดการโลจิสติกส์มาใช้อย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตามการศึกษาพบว่า ประสิทธิผลและความสำเร็จของการประยุกต์ใช้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ รวมทั้งการนำมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละประเทศ