Abstract:
การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการรำไทยบนตารางเก้าช่องต่อภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีการเจ็บป่วยที่เป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกายและไม่มีภาวะซึมเศร้า ทำสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 50 คน และกลุ่มควบคุมซึ่งไม่ได้ร่วมกิจกรรม จำนวน 50 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคล แบบบันทึกกิจกรรมออกกำลังกายการรำไทยบนตารางเก้าช่อง แบบบันทึกภาวะสุขภาพ และแบบคัดกรองความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ (2Q, 9Q) ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เครื่องมือการวิจัยได้รับการตรวจสอบความตรงตามวัตถุประสงค์จากคณะผู้วิจัย นำไปทดลองใช้ในผู้สูงอายุ 30 คน เพื่อตรวจสอบความเข้าใจในภาษา แต่ไม่ได้นำมาวิเคราะห์ค่าความเชื่อมั่น เนื่องจากเครื่องมือเป็นแบบบันทึกผลตามรายการภาวะสุขภาพ และแบบคัดกรองความซึมเศร้าซึ่งเป็นเครื่องมือมาตรฐานของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เก็บรวบรวมข้อมูลก่อนและหลังการทดลอง
โดยคณะผู้วิจัย ณ บ้านของผู้สูงอายุ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา และ
การทดสอบค่าทีแบบอิสระ
ผลการวิจัย
กลุ่มตัวอย่างทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีสัดส่วนลักษณะข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพ การศึกษา การประกอบอาชีพ พฤติกรรมการออกกำลังกายในอดีต และพฤติกรรมการออกกำลังกายในปัจจุบัน ไม่แตกต่างกันทางสถิติ
กลุ่มทดลองมีพฤติกรรมการรำไทยบนตารางเก้าช่องตามแผนการทดลองทุกคน (ร้อยละ 100) ค่าเฉลี่ยพฤติกรรมการรำไทยบนตารางเก้าช่องอยู่ในระดับดี มีพฤติกรรมการออกกำลังกายมากกว่า 3 วัน ใน 1 สัปดาห์ เป็นการออกกำลังกายระดับเบา และออกกำลังกายแต่ละครั้งนานมากกว่า 20 นาที
การเปลี่ยนแปลงของภาวะสุขภาพในกลุ่มทดลอง มีค่าเฉลี่ยน้ำหนักร่างกายลดลง ดัชนีมวลกายลดลง เส้นรอบเอวลดลง และค่าความดันโลหิตซิตโคลิกลดลง มากกว่ากลุ่มควบคุม แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ มีความทนทานของหัวใจและปอดเพิ่มขึ้น ความดันโลหิตไดแอสโตลิดลดลง น้ำตาลในเลือดลดลง ความแข็งแรงกล้ามเนื้อแขนและขาเพิ่มขึ้น ความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อแขนและขาทั้งสองข้างเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่มีค่าเฉลี่ยระดับโคเลสเตอรอลในเลือดไม่ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
หลังการออกกำลังกายด้วยการรำไทยบนตารางเก้าช่อง กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มไม่มีผู้มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ขณะที่ก่อนการทดลองกลุ่มทดลองมีภาวะเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าร้อยละ 6 และกลุ่มควบคุมมีภาวะเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 8 ข้อเสนอแนะจากการวิจัย ควรใช้การรำไทยบนตารางเก้าช่องในการส่งเสริมสุขภาพกาย จิตและสังคมของผู้สูงอายุในชุมชนอย่างต่อเนื่อง 8 สัปดาห์ขึ้นไป