Abstract:
มารดาทารกเกิดก่อนกำหนดมักรู้สึกไม่พร้อม วิตกกังวลและไม่มั่นใจในการดูแลทารกในระยะเปลี่ยนผ่านจากโรงพยาบาลสู่บ้าน ทำให้เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมการดูแลทารกและน้ำหนักตัวทารกไม่เพิ่มขึ้น การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการเตรียมมารดาในระยะเปลี่ยนผ่านต่อพฤติกรรมการดูแลทารกและน้ำหนักตัวทารกที่เกิดก่อนกำหนด กลุ่มตัวอย่างเป็นมารดาครรภ์แรกและทารกเกิดก่อนกำหนดที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จำนวน 30 รายคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนดโดยจัดเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการเตรียมมารดาในระยะเปลี่ยนผ่านจำนวน 8 ครั้งครั้งละ 30-45 นาที ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติของโรงพยาบาลเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ โปรแกรมการเตรียมมารดาในระยะเปลี่ยนผ่าน และแบบสอบถามพฤติกรรมการดูแลทารกเกิดก่อนกำหนด ซึ่งมีค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ .88 และค่าความเชื่อมั่น โดยมีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ .89 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาและการทดสอบค่าที (t-test) ผลการวิจัยพบว่า ภายหลังการทดลองมารดากลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการดูแลทารกเกิดก่อนกำหนดสูงกว่ามารดากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t 28= 4.71, p< .001) แต่ผลต่างค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวของทารกภายหลังจำหน่าย 1 เดือน ระหว่างทารกกลุ่มควบคุมและทารกกลุ่มทดลองมีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ(p> .05) ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า โปรแกรมการเตรียมมารดาในระยะเปลี่ยนผ่าน ทำให้มารดามีพฤติกรรมการดูแลทารกเกิดก่อนกำหนดที่บ้านดีขึ้นและเหมาะสม ดังนั้น พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ควรนำโปรแกรมการเตรียมมารดาในระยะเปลี่ยนผ่านไปประยุกต์ใช้ในการให้การพยาบาลมารดาทารกเกิดก่อนกำหนดในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิด