Abstract:
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสประจำถิ่นที่มีความรุนแรงในประเทศไทย พบว่า ร้อยละ 40 ของผู้ติดเชื้อมีอายุต่ำกว่า 15 ปี จุดมุ่งหมายของการศึกษาในครั้งนี้ คือ เพื่อพัฒนารูปแบบกิจกรรมส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยมีการแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ระยะสำรวจเป็นการวิจัยแบบภาคตัดขวาง มีกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ใน 7 โรงเรียนในจังหวัดชลบุรี จำนวน 287 คนโดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการสำรวจ ระยะที่ 2 ระยะสร้างพัฒนาและศึกษาผลของรูปแบบกิจกรรมส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันโรคพิษสุนัขเป็นการวิจัยกึ่งทดลองศึกษาในกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในจังหวัดชลบุรีสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทำกิจกรรม และกลุ่มเปรียบเทียบ จำนวน 23 และ 22 คน ตามลำดับ แล้วใช้แบบสอบถามวัดผล 3 ครั้ง ได้แก่ ก่อนการทำกิจกรรม หลังการทำกิจกรรมและระยะติดตามผลวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้จำนวนร้อยละค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน PLSSEM independent T-test และ Repeated Measures ANOVA ผลการศึกษาในระยะที่ 1 พบว่า ระดับความรู้ (β = 0.129, se = 0.057, p < 0.005) ระดับทัศนคติ (β = 0.180, se = 0.052, p < 0.005) และแรงจูงใจในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (β = 0.188, se =0.054 p < 0.005) มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับพฤติกรรมการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างมีนัยสำคัญ ผลการศึกษาในระยะที่ 2 พบว่า ในระยะหลังทำกิจกรรม นักเรียนในกลุ่มกิจกรรมมีคะแนนเฉลี่ยของตัวแปรความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าแรงจูงใจในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และการรับรู้ความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่า กลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 และมีคะแนนเฉลี่ยของตัวแปรความเชื่อมั่นในประสิทธิผลของการตอบสนองพฤติกรรมการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.1 ส่วนในระยะติดตามผล พบว่า นักเรียนในกลุ่มกิจกรรมมีคะแนนเฉลี่ยของตัวแปรแรงจูงใจในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและการรับรู้ความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 นอกจากนั้น ยังพบว่า นักเรียนในกลุ่มทำกิจกรรมมีระดับคะแนนเฉลี่ยของความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าแรงจูงใจในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าการรับรู้ความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้าและความเชื่อมั่นในประสิทธิผลของการตอบสนองพฤติกรรมการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั้ง 3 ระยะ (ก่อนการเข้าร่วมกิจกรรม หลังการเข้าร่วมกิจกรรม และระยะติดตามผล) แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติอย่างน้อย 1 คู่ที่ F = 3.192, df = 2, p < 0.1 F = 7.334, df = 2, p < 0.05 F = 5.25, df = 2, p < 0.05 และ F = 6.266, df = 2, p < 0.05 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ได้พัฒนาขึ้นนั้น ช่วยให้นักเรียนมีแรงจูงใจในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยเฉพาะด้านการรับรู้ความรุนแรงและความเชื่อมั่นในประสิทธิผลของการตอบสนองพฤติกรรมการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยดังกล่าวที่ เพิ่มขึ้นนั้น มีความคงทนถึงแม้ระยะเวลาจะผ่านไปแล้ว 4 สัปดาห์ก็ตาม จึงสามารถสรุปได้ว่า กิจกรรมที่พัฒนาขึ้นสามารถนำไปใช้งานได้จริง เป็นประโยชน์และสามารถแก้ไขปัญหาได้ นอกจากนี้ยังพบว่า ควรค่าที่จะศึกษาและพัฒนากิจกรรมในรูปแบบนี้เพิ่มเติมในอนาคตโดยเน้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตร่วมกับการเรียนในชั้นเรียน