Abstract:
ความรอบรู้เท่าทันสื่อเป็นปัจจัยทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเสี่ยงของวัยรุ่น โดยเฉพาะความรอบรู้เท่าสื่อทางเพศการศึกษานี้จึงเป็นการวิจัยกึ่งทดลองเพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการพัฒนาความรอบรู้เท่าทันสื่อสุขภาพด้านเพศต่อการป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรในนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชายและหญิงที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในโรงเรียนมัธยมศึกษาของรัฐบาลเขตอำเภอนาดีจังหวัดปราจีนบุรีแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 31 คน และกลุ่มเปรียบเทียบ 34 คน โดยกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมผลของการพัฒนาความรอบรู้เท่าทันสื่อสุขภาพด้านเพศที่ประกอบด้วยกิจกรรม 6 ชุด นาน 6 สัปดาห์โดยพัฒนาจากโมเดลกรอบแนวคิดความรอบรู้ด้านสุขภาพรูปแบบตัววี (V shape) ส่วนกลุ่มเปรียบเทียบได้รับการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาตามหลักสูตรขั้นพื้นฐานปกติของโรงเรียน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย Chi-square test, Independent t-test และสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ (Repeated Measure ANOVA) ผลการศึกษาพบว่า เมื่อสิ้นสุดการทดลองทันทีและระยะติดตามสี่สัปดาห์นักเรียนที่ได้รับโปรแกรม ฯ มีคะแนนเฉลี่ยทัศนคติเชิงบวกต่อการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร (F = 13.744, p< .001) การรับรู้ความสามารถของตนเองในการปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร (F = 16.463, p < .001) และความตั้งใจในหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร (F = 19.441, p< .001) สูงกว่า นักเรียนกลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในขณะที่คะแนนเฉลี่ยความสะดวกใจในการสื่อสาร เรื่องเพศกับผู้ปกครองไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F = 2.945, p= .091) ผลการวิจัยครั้งนี้ให้ข้อเสนอแนะว่ากลยุทธ์การพัฒนาความรอบรู้เกี่ยวกับสื่อทางเพศ สามารถป้องกันการมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศในวัยรุ่นได้