Abstract:
การจัดการตนเองเป็นกระบวนการสำคัญที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการควบคุมน้ำหนักและการเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบ 2 กลุ่ม วัดผลก่อนและหลังการทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการตนเองต่อพฤติกรรมการควบคุมน้ำหนักและการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตามเกณฑ์ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน กลุ่มตัวอย่างคือ หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน ก่อนการตั้งครรภ์ จำนวน 50 รายเข้ารับการฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทรระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ถึง เดือนมกราคม พ.ศ. 2564 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติตามเกณฑ์และสุ่มอย่างง่ายจำนวนกลุ่มละ 25 รายเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามพฤติกรรมการควบคุมน้ำหนัก มีค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหา (Content Validity Index, [CVI]) เท่ากับ 1.00 และค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบัค (Cronbach’s Alpha coefficient) เท่ากับ 0.87 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา Chi-square, Fisher’s Exact test, Mann-Whitney U และ t-test ผลการวิจัย พบว่า ภายหลังการทดลองกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการควบคุมน้ำหนักสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (t 48=3.91, p< .001) และมีสัดส่วนของหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (X 2 = 15.71, p< .001) ผลการศึกษานี้เสนอแนะให้พยาบาลแผนกฝากครรภ์สามารถนำโปรแกรมการจัดการตนเองไปประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายของ หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักเตามเกณฑ์ที่กำหนด