Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณโดยมีจุดประสงค์ (1) เพื่อศึกษาทัศนคติของพนักงานบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีในจังหวัดระยองที่มีต่อ KPIs (2) เพื่อศึกษาทัศนคติของพนักงานบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีในจังหวัดระยองที่มีต่อ OKRs (3) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยพื้นฐานเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของพนักงานบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีในจังหวัดระยองกับทัศนคติที่มีต่อ KPIs และ OKRs (4) เพื่อศึกษาแนวโน้มการบูรณาการการใช้ OKRs ร่วมกับ KPIs ที่มีต่อประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีในจังหวัดระยองกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างความเชื่อมั่นร้อยละ 95 โดยวิธีใช้การสุ่มตัวอย่างแบบโควต้า ตามส่วนพื้นที่ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 352 คน เมื่อนำแบบสอบถามมาทดลองใช้ได้ค่าความเชื่อมั่น 0.972 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป ผลการวิจัยพบว่า (1) ทัศนคติของพนักงานต่อทฤษฎีตัวชี้วัดความสำเร็จโดยรวมอยู่ในระดับมาก ส่วนรายด้านพบว่าการกำหนดตัวชี้วัดรองและการกำหนดตัวชี้วัดระดับบุคคลอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนการกำหนดตัวชี้วัดหลักระดับหน่วยงานและการกำหนดตัวชี้วัดหลักระดับองค์กรอยู่ในระดับมาก สำหรับทัศนคติของพนักงานบริษัทต่อ OKRs ในภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก ผลการศึกษาความคิดเห็นต่อแนวโน้มการบูรณาการตัวชี้วัดตามทฤษฎีตัวชี้วัดความสำเร็จและการตั้งเป้าหมายเพื่อวัดผลความสำเร็จในภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมากและผลการศึกษาความคิดเห็นประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานบริษัทในกลุ่ม อุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีในจังหวัดระยองโดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก (2) ผลการเปรียบเทียบเพศ ระดับการศึกษา ตำแหน่งงาน ประสบการณ์การทำงาน แตกต่างกัน มีผลต่อทัศนคติของพนักงานต่อ KPIs แตกต่างกัน แต่เมื่อจำแนกตามอายุไม่แตกต่างกัน (3) ผลการเปรียบเทียบเพศ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา ตำแหน่งงาน แตกต่างกัน มีผลต่อทัศนคติของพนักงานต่อ OKRs แตกต่างกัน แต่เมื่อจำแนกตามอายุ ประสบการณ์การทำงาน ไม่แตกต่างกัน (4) ทัศนคติของพนักงานต่อ KPIs และ OKRs มีผลต่อแนวโน้มการบูรณาการการใช้ OKRs ร่วมกับ KPIs อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .001 (5) แนวโน้มการบูรณาการการใช้ OKRs ร่วมกับ KPIs มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีในจังหวัดระยองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .001