Abstract:
การวิจัยนี้ใช้วิธีการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed method research) โดยใช้วิธีวิจัยแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการ สนทนากลุ่ม (Focus group discussion) ซึ่งผู้วิจัยแบ่งขั้นตอนการดำเนินการวิจัยออกเป็น 3 กระบวนการวิจัย สำหรับกระบวนการวิจัยขั้นที่ 1 ดำเนินการวิจัยโดยใช้วิธีวิจัยผสมผสาน แบบคู่ขนาน (Concurrent Parallel Design) โดยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) เป็นการทำเพื่อค้นหามุมมองแนวคิดด้านบวกเกี่ยวกับความรู้สึกของผู้บริหารที่มีต่อการคงอยู่ในองค์กร ทำการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) กับผู้บริหารประจำแผนกวิศวกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอัตโนมัติ จำนวน 8 คน ใช้การสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (SemiStructured Interview) เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลและการศึกษาในงานวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) เพื่อศึกษาหาอิทธิพลของปัจจัยการธำรงรักษาพนักงานที่มีผลต่อการคงอยู่ในองค์กรของพนักงาน กลุ่มตัวอย่าง คือ พนักงานตั้งแต่ระดับพนักงานประจำการ (Staff) และพนักงานอาวุโส (Senior staff) จำนวน 200 คน ประจำแผนกวิศวกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอัตโนมัติโดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) ในการเก็บรวบรวมข้อมูลและทำการวิเคราะห์ปัจจัยด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมาน กระบวนการวิจัยขั้นที่ 2 เป็นการนำข้อมูลที่ได้จากกระบวนการวิจัยขั้นที่ 1 มาเป็นข้อมูลในการสนับสนุนการจัดสนทนากลุ่ม (Focus group discussion) เพื่อพัฒนากลยุทธ์การธำรงรักษาพนักงาน กับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษานี้ คือ พนักงานตั้งแต่ระดับพนักงานประจำการ (Staff) พนักงานอาวุโส (Senior staff) และผู้บริหารประจำแผนกวิศวกรรมการผลิต ประจำแผนกวิศกรรมการผลิต ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอัตโนมัติ จำนวน 68 คน ภายหลังจากได้ผลการสนทนากลุ่มแล้วจึงนำมาวิเคราะห์ SONEAR เพื่อทำการสร้างเป็นนโยบายและกลยุทธ์การธำรงรักษาพนักงาน และกระบวนการวิจัยขั้นที่ 3 ดำเนินการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) เป็นงานวิจัยเชิงสำรวจ (Survey research) เพื่อหาความพึงพอใจของพนักงานต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติโดยกลุ่มตัวอย่าง คือ พนักงานตั้งแต่ระดับพนักงานประจำการ (Staff) พนักงานอาวุโส (Senior staff) และผู้บริหารประจำแผนกวิศวกรรมการผลิต ประจำแผนกวิศกรรมการผลิต ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอัตโนมัติ จำนวน 100 คน ใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลและทำการวิเคราะห์ผลความพึง พอใจด้วยสถิติเชิงพรรณนา ผลการวิจัยพบว่า (1) ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ตัวแปรอิสระ“การธำรงรักษาพนักงาน” มีอิทธิพลต่อ “การคงอยู่ในองค์กร” ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 (2) จากผลการสัมภาษณ์มุมมองของผู้บริหารที่มีเกี่ยวกับความรู้สึกที่ดีต่อการคงอยู่ในองค์กร พบว่าประสบการณ์ความรู้สึกที่ดีต่อการทำงานในองค์กรแห่งนี้ของผู้บริหารภายในองค์กร คือ 1) การทำงานเป็นทีม 2) บทบาทหัวหน้างานที่ดีและ 3) การได้รับโอกาสในการทำงาน และงานนั้นประสบความสำเร็จ (3) ผลการจัดการสนทนากลุ่ม (Focus group discussion) พบว่าผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ได้ร่วมกันพัฒนาแผนการธำรงรักษาพนักงาน ทำการสร้างแผนการปฏิบัติและกลยุทธ์ทั้งหมด 6 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านความสมดุลของชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว 2) ด้านรางวัลและผลตอบแทน 3) ด้านความก้าวหน้าทางอาชีพ 4) ด้านการฝึกอบรมและการพัฒนา 5) ด้านสภาพแวดล้อมการทำงาน 6) ด้านบทบาทหัวหน้างาน (4) ผลการสำรวจความพึงพอใจของพนักงานแผนกวิศวกรรมการผลิตต่อโครงร่างนโยบายการธำรงรักษาพนักงาน เพื่อสร้างแนวทางการธำรงรักษาพนักงาน พบว่า พนักงานแผนกวิศวกรรมการผลิตมีความพึงพอใจต่อโครงร่างเชิงนโยบายอยู่ในระดับมากที่สุด (5) ผลการวิจัยการธำรงรักษาพนักงาน สามารถนำมาสังเคราะห์เป็นแนวทางการธำรงรักษาพนักงานฝ่ายวิศวกรรมการผลิต ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอัตโนมัติซึ่งก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในการนำงานวิจัยไปประยุกต์ใช้เพื่อหาแนวทางการธำรงรักษาพนักงาน แผนกวิศวกรรมการผลิต ในภาคอุตสาหรกรรมการผลิตอัตโนมัติในรูปแบบองค์ความรู้ด้านวิชาการ เรียกว่า “2M1W Model” ที่หมายถึง “การสร้างคน สร้างงาน และสร้างแรงจูงใจ” ซึ่งได้มาจากการตกผลึกทางความคิด จากความร่วมมือของพนักงานทุกคนภายในองค์กรประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการธำรงรักษาพนักงาน คือ คน (M - Man) งาน (W - Work) และแรงจูงใจ (M - Motivation) โดยจากปัจจัยที่ส่งผลต่อการธำรงรักษาพนักงานทั้ง 3 วงก่อให้เกิดจุดร่วมที่ทับซ้อน 4 จุด คือ ทักษะการทำงาน (Skill) ความท้าทาย (Challenge) การได้รับโอกาส (Opportunity) และการธำรงรักษา (Retention) และสามารถนำมาพัฒนาโดยการบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนเชิงกลยุทธ์ (Strategic planning) ขององค์กรต่อไป