Abstract:
การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความเชื่อว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการมีประสบการณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้าและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนชายอาชีวศึกษา กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชายที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 338 คน เก็บรวมรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่ตอบด้วยตนเอง ประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลการสูบบุหรี่ทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ไฟฟ้าการรับรู้กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าความสัมพันธ์กับโรงเรียน และความเครียด ทดสอบความเชื่อมั่นของแบบสอบถามด้วยวิธีครอนบาคแอลฟาและ KR 20 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ Binary logistic regression ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีประสบการณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 59.8 อายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้า คือ15.6 ปี (SD = 1.56) โดยปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนชายอาชีวศึกษา ได้แก่ ความสัมพันธ์กับโรงเรียน (AOR = 2.17, 95% CI = 1.257-3.768) การถูกเพื่อนชักชวนให้สูบ (AOR = 2.92, 95% CI = 1.712-5.007) การสูบบุหรี่มวนของเพื่อน (AOR = 2.49, 95%CI = 1.411-4.423) การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเพื่อน (AOR = 2.69, 95% CI = 1.546- 4.698) และการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า (AOR = 1.74, 95% CI = 1.011-3.085) ผลการวิจัยครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางสุขภาพครูและผู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มวัยรุ่นชายต่อไป