Abstract:
การศึกษาเรื่องปัญหาและความจำเป็นด้านการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในการทำงานของพนักงานธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งในเขตเมืองพัทยา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับปัญหาและระดับความจำเป็นด้านการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในการทำงาน วิธีการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในการทำงานที่เหมาะสม เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างข้อมูลส่วนบุคคลที่ส่งผลต่อปัญหา, ความจำเป็น และวิธีการพัฒนา หาความสัมพันธ์ระหว่างปัญหากับความจำเป็น โดยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ พนักงานธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ในเขตเมืองพัทยา จำนวน 80 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามการวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติสถิติที่ใช้ คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติในการทดสอบสมมติฐานใช้การหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson Correlation) ผลการวิจัย พบว่า ระดับปัญหาการใช้ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในการทำงานในภาพรวมเฉลี่ยและรายด้าน มีปัญหาอยู่ในระดับมากโดยเรียงลำดับตามค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ดังนี้ ปัญหาการใช้ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในการทำงาน ด้านทักษะการฟัง (x̅ = 4.42, S.D. = 0.74) ด้านทักษะพูด (x̅ = 4.09, S.D. = 0.75) ด้านทักษะการเขียน (x̅ = 3.90, S.D. = 0.98) และด้านทักษะการอ่าน (x̅ = 3.49, S.D. = 1.14) ระดับความจำเป็นด้านการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในการทำงานใน ภาพรวมเฉลี่ยและรายด้านทักษะการพูด ทักษะการเขียน และทักษะการอ่าน มีความจำเป็นอยู่ในระดับมากยกเว้นรายด้าน ทักษะการฟัง มีความจำเป็นอยู่ในระดับมากที่สุด โดยเรียงลำดับตามค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ดังนี้ด้านทักษะการฟัง (x̅ = 4.59, S.D. = 0.71) ด้านทักษะพูด (x̅ = 4.37, S.D. = 0.72) ด้านทักษะการเขียน (x̅ = 4.22, S.D. = 0.81) และด้านทักษะการอ่าน (x̅ = 3.93, S.D. = 0.89) วิธีการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในการทำงานที่เหมาะสม พบว่า พนักงานธนาคารมีความต้องการให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทจัดหลักสูตรฝึกอบรม ทั้ง4 ทักษะอยู่ในระดับมาก ผลการเปรียบเทียบข้อมูลส่วนบุคคลกับปัญหาการใช้ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ พบว่า ด้านเพศ ไม่แตกต่างกัน ส่วนข้อมูลส่วนบุคคลด้านอื่น ๆ แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เปรียบเทียบข้อมูลส่วนบุคคลกับความจำเป็นด้านการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ พบว่า ข้อมูลส่วนบุคคลด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างกัน ยกเว้นด้านอายุแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เปรียบเทียบข้อมูลส่วนบุคคลกับความเห็นเกี่ยวกับวิธีการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ พบว่า ข้อมูลส่วนบุคคลด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างกัน ยกเว้นด้านความถี่ในการใช้ภาษาอังกฤษในการทำงานแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 การหาความสัมพันธ์ระหว่างปัญหากับความจำเป็นด้านการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในการทำงาน พบว่า มีความสัมพันธ์เชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ r = 0.744 ข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัย คือ ด้านการวางแผนการจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้กับพนักงานธนาคารโดยเฉพาะด้านทักษะการฟังองค์กรควรส่งเสริมสนับสนุน โดยการเน้นฝึกฝนการฟังเชิง ลึกเพื่อให้สามารถจับใจความสำคัญของบทสนทนา ตลอดจนสร้างความคุ้นเคยสำเนียงการพูดของลูกค้าชาวต่างชาติที่แตกต่างกัน