Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กวัยเรียนในชนบทภาคอีสาน ศึกษาและเปรียบเทียบความรู้ ความคิดเห็น และการปฏิบัติด้านการอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียนของผู้อบรมเลี้ยงดูเด็ก ตลอดจนศึกษาพัฒนาการและประเมินภาวะโภชนาการของเด็กก่อนวัยเรียน ระยะก่อนและหลังการส่งเสริม พื้นที่การวิจัยเป็นพื้นที่เป้าหมายที่โครงการอีสานเขียวได้กำหนดให้ การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพด้วยการใช้แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบสังเกต รูปแบบที่ใช้ในส่งเสริมการพัฒนา ได้แก่ ยุทธวิธีการใช้สื่อและการจัดกิจกรรม ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบความแตกต่างด้านความรู้ ความคิดเห็น และการปฏิบัติโดยการทดสอบค่าที (t-test) และทำการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ โดยการทดสอบค่าเอฟ (F-test) ข้อมูลเชิงคุณภาพทำการวิเคราะห์เนื้อหาและนำเสนอแบบบรรยาย
ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กก่อนวัยเรียนในชนบทภาคอีสาน จำเป็นต้องอาศัยกลวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ทั้งนี้เพื่อกระตุ้น ชี้นำให้ชุมชนสามารถนำศักยภาพของตนเองและนำทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์ สร้างความเข้าใจและแนวปฏิบัติให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเอง กระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่องค์กรหลักที่เกี่ยวข้อง สร้างความศรัทธาให้เกิดกับผู้นำในระดับท้องถิ่น โดยนำปัจจัยนำเข้าแบบผสมผสาน ซึ่งได้แก่ ยุทธวิธีการใช้สื่อเพื่อแก้ไขปัญหาและการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตมาใช้ จากการศึกษาวิจัยด้วยกลวิธีดังกล่าวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ ความคิดเห็นและการปฏิบัติในการอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียนของผู้อบรมเลี้ยงดูเด็ก โดยส่วนรวมเหมาะสมและถูกต้องเพิ่มขึ้น และจากการเปรียบเทียบด้านความรู้ ความคิดเห็น และการปฏิบัติของผู้อบรมเลี้ยงดูเด็กระยะก่อนและหลังส่งเสริม โดยส่วนรวมแตกต่างกันในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 และพบว่าผู้อบรมเลี้ยงดูเด็กบ้านผักแว่น หมู่ที่4 มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้และการปฏิบัติในทางบวกสูงกว่าหมู่บ้านอื่น และยังพบว่าพัฒนาการและภาวะโภชนาการของเด็กก่อนวัยเรียนโดยส่วนรวมดีขึ้น