Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย 1) เพื่อศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อการฟื้นคืนทางอารมณ์ของนักศึกษาที่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 2) เพื่อศึกษาผลของรูปแบบการปรึกษาเชิงบูรณาการที่มีต่อการฟื้นคืนทางอารมณ์ของนักศึกษาที่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักศึกษาที่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อการฟื้นคืนทางอารมณ์ได้มาจากการสุ่มอย่างง่ายจากนักศึกษา จำนวน 420 คน กลุ่มที่ 2 คัดเลือกโดยการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจงจากนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จำนวน 30 คน เป็นกลุ่มทดลอง 2 กลุ่ม และกลุ่มควบคุม 1 กลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบวัดการฟื้นคืนทางอารมณ์ 2) รูปแบบการปรึกษาเชิงบูรณาการ ซึ่งประกอบไปด้วย 2.1) รูปแบบการปรึกษาเชิงบูรณาการรายบุคคลโดยใช้ทฤษฎีการปรึกษาพิจารณาเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรม เป็นฐานดำเนินการ จำนวน 12 ครั้งครั้งละ 60-90 นาที 2.2) รูปแบบการปรึกษาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทฤษฎีเน้นทางออกระยะสั้นดำเนินการ จำนวน 8 ครั้งครั้งละ 60-90 นาที ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. โมเดลเส้นทางปัจจัยที่ส่งผลต่อการฟื้นคืนทางอารมณ์ของนักศึกษาที่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยตัวแปรการฟื้นคืนทางอารมณ์ได้รับอิทธิพลทางตรงจากตัวแปรการเห็นคุณค่า ในตนเอง การควบคุมตนเอง การสนับสนุนทางสังคม และการมองโลกในแง่ดีซึ่งมีขนาดอิทธิพลทางตรงเท่ากับ 0.22, 0.25, 0.11 และ 0.33 ตามลำดับ และตัวแปรการเห็นคุณค่าในตนเองการควบคุมตนเองการสนับสนุนทางสังคม และการมองโลกในแง่ดีร่วมกันทำนายตัวแปรการฟื้นคืนทางอารมณ์ ได้ร้อยละ 58 2. การศึกษาผลของรูปแบบการปรึกษาเชิงบูรณาการที่มีต่อการฟื้นคืนทางอารมณ์ของนักศึกษาที่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีดังนี้ 2.1 นักศึกษาที่ได้รับรูปแบบการปรึกษาเชิงบูรณาการทฤษฎีและเทคนิคโดยมีทฤษฎี พิจารณาเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรมเป็นฐาน มีค่าเฉลี่ยคะแนนการฟื้นคืนทางอารมณ์ในระยะหลังการทดลองและระยะการติดตามผลสูงขึ้นกว่าระยะก่อนการทดลอง 2.2 นักศึกษาที่ได้รับรูปแบบการปรึกษาเชิงบูรณาการผ่านสื่อสังคมออนไลน์แนวคิด ทฤษฎีการปรึกษาเน้นทางออกระยะสั้น มีค่าเฉลี่ยคะแนนการฟื้นคืนทางอารมณ์ในระยะหลังการทดลองและระยะการติดตามผลสูงขึ้นกว่าระยะก่อนการทดลอง 2.3 นักศึกษาที่ได้รับรูปแบบการปรึกษาเชิงบูรณาการทฤษฎีและเทคนิคโดยมีทฤษฎี พิจารณาเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรมเป็นฐาน มีคะแนนการฟื้นคืนทางอารมณ์สูงกว่ากลุ่มควบคุม 2.4 นักศึกษาที่ได้รับรูปแบบการปรึกษาเชิงบูรณาการผ่านสื่อสังคมออนไลน์แนวคิด ทฤษฎีการปรึกษาเน้นทางออกระยะสั้น มีคะแนนการฟื้นคืนทางอารมณ์สูงกว่ากลุ่มควบคุม