Abstract:
ความผาสุกทางใจในการทํางานเป็นอีกด้านหนึ่งของความผาสุกทางใจ ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตของบุคคลรวมทั้งพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ การวิจัยเชิงบรรยายเพื่อหาความสัมพันธ์นี้ วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านจิตสังคมกับความผาสุกทางใจในการทํางานของพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ กลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ของมูลนิธิสองแห่งในเขตอําเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จํานวน 100คน ได้มาด้วยการสุ่มแบบแบ่งชั้น เก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามความผาสุกทางใจในการทํางาน แบบสอบถามความมีจิตสาธารณะ แบบสอบถามความภาคภูมิใจในตนเอง แบบสอบถามความอ่อนล้าทางอารมณ์ แบบสอบถามสัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมงาน และแบบสอบถามความขัดแย้งระหว่างงาน และชีวิตครอบครัว วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาและการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความผาสุกทางใจในการทํางานโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (X̄=49.04, SD =10.10) จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ พบว่า ความอ่อนล้าทางอารมณ์ และความขัดแย้งระหว่างงานและชีวิตครอบครัวมีความสัมพันธ์ทางลบในระดับสูงกับความผาสุกทางใจในการทํางานอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ (r= -0.84, p < .01 และ r = -0.78, p < .01) ส่วนสัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมงาน ความมีจิตสาธารณะและความภาคภูมิใจในตนเองมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับสูงกับความผาสุกทางใจในการทํางานอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ (r = 0.87, p < .01, r = 0.83, p < .01 ตามลําดับ) จากผลการศึกษามีข้อเสนอแนะว่าผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ ควรให้ความสําคัญในการเสริมสร้างสัมพันธภาพระหว่างพนักงาน ความมีจิตสาธารณะ และความภาคภูมิใจในตนเอง ป้องกันความอ่อนล้าทางอารมณ์และจัดตารางการทํางานให้มีความสมดุลระหว่างงานและชีวิตครอบครัว เพื่อธํารงไว้ซึ่งขวัญกำลังใจและเพิ่มความผาสุกทางใจ ในการทํางานของพนักงานฉุกเฉินการแพทย์เหล่านี้