Abstract:
การตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตมีความสำคัญต่อผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย เนื่องจากการเลือกวิธีบำ บัดทดแทนไตที่เหมาะสมกับบริบทองค์รวมของผู้ป่วยสามารถคงไว้ซึ่งการรักษาอย่างต่อเนื่อง และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยการวิจัยเชิงพรรณนาสหสัมพันธ์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไต และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตของกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการวินิจฉัยจากอายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลสระบุรี และจำเป็นต้องมีแผนการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต กลุ่มตัวอย่างที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดได้รับ การคัดเลือกด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย จำนวน 82 ราย เครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อ มูลส่วนบุคคล 2) แบบประเมินความหวังต่อการบำบัดทดแทนไต 3) แบบประเมินความชอบต่อวิธีบำบัดทดแทนไต 4) แบบประเมินความสามารถในการเข้ารับบริการบำบัดทดแทนไต 5) แบบประเมินทัศนคติของผู้ป่วยต่อการบำบัดทดแทนไต และ 6) แบบประเมินการตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไต และมีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาคเท่ากับ .82, .80, .85, .82 และ .82 ตามลำดับ ข้อมูลจากการวิจัยถูกวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายส่วนใหญ่มีการตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตอยู่ระดับสูง (X = 40.59, SD = 2.02) และพบว่า ความหวังต่อการบำบัดทดแทนไต ความชอบต่อวิธีบำบัดทดแทนไต และความสามารถในการเข้ารับบริการบำ บัดทดแทนไตมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r= .32, r= .29, r= 34; p< .01 ตามลำดับ) ในส่วนของทัศนคติของผู้ป่วยต่อการบำบัดทดแทนไตไม่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไต (r= -.01; p > .05 ) สรุปได้ว่า ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายมีความสามารถในการตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตด้วยตนเอง พยาบาลวิชาชีพและบุคลากรด้านสุขภาพควรมีการสนับสนุนความรู้เกี่ยวกับการเจ็บป่วยและวิธีบำบัดทดแทนไตเพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจและมีความชอบต่อวิธีบำบัดทดแทนไตที่ตนเองเลือก และสุดท้ายต้องส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีความหวังในการดำเนินชีวิตแม้ว่าต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีบำบัดทดแทนไต