Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศักยภาพด้านพฤติกรรมสุขภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มารับบริการตรวจรักษาที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยบูรพา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง ปัจจัยด้านอิทธิพลของสภาพแวดล้อมทางสังคม ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน และความคาดหวังในการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพ ต่อศักยภาพด้านพฤติกรรมสุขภาพการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยฯ ด้าน การบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย ความเครียด และการจัดการความเครียด และการรับประทานยา กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้ป่วยซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มารับบริการตรวจและรักษาที่คลินิกพิเศษเฉพาะโรคเบาหวาน ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยบูรพาจำนวนรวม 150 คน เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ และนำมาวิเคราะห์โดยใช้ สถิติพรรณา ได้แก่ ค่ามัธยฐาน ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติวิเคราะห์ ได้แก่ Pearson Correlation
ผลการศึกษา พบว่า ร้อยละของผู้ป่วย ฯ มีพฤติกรรมโดยรวม ด้านการบริโภคอาหาร ด้านการจัดการความเครียด และด้านการรับประทานยา ในระดับต่ำและระดับสูงใกล้เคียงกัน ยกเว้นพฤติกรรมการออกกำลังกายที่พบว่า ผู้ป่วย ฯ มาก 2 ใน 3 (ร้อยละ 63.7) มีพฤติกรรมการออกกำลังกายในระดับสูง และ ที่เหลือออกกำลังกายในระดับต่ำ เมื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านต่าง ๆ กับ พฤติกรรมสุขภาพเกี่ยวกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วยสถิติสหสัมพันธ์เพียร์สัน พบว่า
1) อิทธิพลของสภาพแวดล้อมทางสังคมมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ด้านการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด และการรับประทานยา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = 0.1806, r = 0.2062, r = 0.2842, r = 0.1832 และ p = 0.0346, p = 0.0191, p = 0.0007, p = 0.0369) ส่วนอิทธิพลของสภาพแวดล้อมทางไม่มีความสัมพันธ์กับความเครียด
2) ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการออกกำลังกายเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = 0.2898 และ p = 0.0007) ส่วนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ด้านการบริโภคอาหาร ความเครียด การจัดการความเครียด และการรับประทาน
3) ความคาดหวังในการปฏิบัติพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ด้านการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย ความเครียด การจัดการความเครียด และการรับประทานยา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = 0.5014, r = 0.4923, r = 0.2468, r = 0.1987, r = 0.2187 และ p <0.0001, p <0.0001, p = 0.0043, p = 0.0204, p = 0.0143)
ในการพัฒนาศักยภาพการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแก่ผู้ป่วย ฯ จึงควรให้ความสำคัญกับปัจจัยอิทธิพลของสภาพแวดล้อมทางสังคม และความคาดหวังในการปฏิบัติพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยส่งเสริมให้ครอบครัว และบุคคลใกล้ชิดเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม และกระตุ้นให้ผู้ป่วย ฯ คาดหวังในการปฏิบัติพฤติกรรมของตนเองร่วมกับการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานแก่ผู้ป่วย ฯ