Abstract:
การวิจัยเชิงสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็นต่อหลักสูตรพยาบาลเฉพาะทางสาขาเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น) ของพยาบาลเวชปฏิบัติที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรเฉพาะทาง สาขาเวชปฏิบัติทั่วไปและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผ่านการอบรมที่สภาการพยาบาลระหว่างปี พ.ศ.2546-2553 กลุ่มตัวอย่าง 2,406 คน สุ่มอย่างง่ายจากเลขที่การขึ้นทะเบียน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม ส่งทางไปรษณีย์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วย สถิติเชิงพรรณา แจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการเปรียบเทียบความแตกต่างของความคิดเห็นด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว
ผลการวิจัยพบว่า ความคิดเห็น ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอน ค่าคะแนนระดับมากที่สุดคือ วัตถุประสงค์ของหลักสูตร ความเหมาะสมของผู้สอน ค่าคะแนนระดับมาก ได้แก่ ความเหมาะสมของจำนวนหน่วยกิต จำนวนผู้เรียน จำนวนผู้สอน และจำนวนแหล่งฝึกปฏิบัติ ระยะเวลาในการจัดการศึกษา เนื้อหาภาคทฤษฎีมีความทันสมัยและน่าสนใจ ทุกรายวิชาสามารถนำไปประยุกต์ในการปฏิบัติงานการรักษาโรคเบื้องต้นในสถานการณ์จริง การจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติมีความเหมาะสมในระดับมาก ทั้งการประสานงานกับแหล่งฝึก ความชัดเจนของวัตถุประสงค์ ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 300 ชั่วโมง การให้ความรู้ของแพทย์และพยาบาล สัดส่วนผู้เรียนผู้สอน กิจกรรมการฝึกปฏิบัติ และเสนอแนะให้อาจารย์แพทย์เป็นผู้สอนที่เหมาะสมในการปฏิบัติการรักษาโรคเบื้องต้น พบว่าความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในเรื่อง ขนาดของกลุ่มผู้เรียน พบว่า กลุ่มผู้เรียน 1-50 คน มีความคิดเห็นต่อความเหมาะสมของหลักสูตรมากกว่า กลุ่มที่มีผู้เรียน 151-200 คน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F=4.44,p<.01) กลุ่มที่เรียนภาคทฤษฎีในเวลาราชการ มีความคิดเห็นว่าหลักสูตรเหมาะสมมากกว่า กลุ่มที่เรียนนอกเวลาราชการ ผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานที่ต่างกันมีความเห็นต่อความเหมาะสมของหลักสูตรต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ<.05(F=2.72,p=.04)โดยกลุ่มที่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลชุมชน มีความคิดเห็นว่าหลักสูตรเหมาะสมน้อยกว่า กลุ่มที่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือที่ศูนย์แพทย์ชุมชน และกลุ่มที่ปฏิบัติงานโรงพยาบาลทั่วไป หรือที่อื่น ๆ
ข้อเสนอแนะ หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนมีความเหมาะสมในการพัฒนาสมรรถนะในการตรวจรักษาโรคเบื้องต้นของพยาบาลวิชาชีพ