Abstract:
การศึกษาเรื่องการดูแลตนเองของมารดาหลังคลอดที่ติดเชื้อเอชไอวี เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพชนิดการวิจัยเชิงปรากฎการณ์สังคม โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อบรรยายและอธิบายปรากฎการณ์การดำเนินชีวิต การดูแลตนเอง และปัจจัยเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการดูแลตนเองตามการรับรู้ตามสถานการณ์จริงของมารดาหลังคลอดที่ติดเชื้อเอชไอวี ทำการศึกษามารดาหลังคลอดที่รับรู้ว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี ที่มาคลอดและนอนพักรักษา ณ หอผู้ป่วยหลังคลอด โรงพยาบาลระยอง จำนวน 5 ราย ในระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2546 ถึง วันที่ 30 เมษายน 2547 เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสังเกต การบันทึกเทป และการบันทึกภาคสนาม ทำการเก็บข้อมูลเริ่มที่โรงพยาบาล และติดตามเยื่อมบ้านจนครบ 6 สัปดาห์หลังคลอด โดยเยี่ยมสัปดหา์ละครั้ง
วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (Induction) ซึ่งประกอบด้วยการทำดัชนีข้อมูล การวัดกลุ่มดัชนีข้อมูล การสร้างข้อสรุป และการพิสูจน์ข้อสรุป
ผลการศึกษาพบว่า ปรากฎการณ์ของการดำเนินชีวิตอยู่ของมารดาหลังคลอดที่ติดเชื้อเอชไอวี ตกอยู่ในภาวะความกลัวและเป็นทุกข์ใจ สิ่งที่กรณีศึกษากลัว คือ กลัวสังคมรังเกียจ กลัวภาวะคิดเชื้อถูกเปิดเผย กลัวเผยแพร่ไปยังลูก กลัวอันตรายจากความรุนแรง และความไม่แน่นอนของโรคและมีความทุกข์อันเกิดจากการขาดความมั่นคงในชีวิต ปรากฎการณ์ในการดำเนินชีวิตทั่ว ๆ ไป ของมารดาหลังคลอดที่ติดเชื้อเอชไอวี แต่พบว่าสัมพันธ์ภาพกับสามีกลับดียิ่งขึ้น การดูแลตนเองหลังการรับรู้ว่าติดเชื้อเอชไอวี มีการดูแลตนเองให้มีสุขภาพดีจะได้มีชีวิตอยู่เพื่อเป็นที่พึ่งของลูกโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ พยาบาล และป้องกันการรับเชื้อเพิ่มจากสามี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ากรณีศึกษา ได้ให้ความสนใจในการแสวงหาความรู้ในการดูแลตนเองน้อยมาก
มีการดูแลตนเองด้านจิตสังคม โดยปรับสภาพจิตอารณ์ให้คลายทุกข์ โดยใช้แนวทางศาสนาเรื่องกฎแห่งกรรม และ สัจธรรมของชีวิตที่ทุกคนจะหลีกหนีความตายไม่พ้น มาเป็นสิ่งปลอบใจ และการไม่ปล่อยให้มีเวลาว่าง กรณีศึกษาดำรงสถานภาพทางสังคมไว้ได้โดยการปกปิด การติดเชื้อไม่ให้ผู้อื่นรู้และมีการวางแผนในอนาคตโดยการจัดเตรียมด้านการเงินและที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย
ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลตนเองของมารดาหลังคลอดที่ติดเชื้อเอชไอวี คือ การตระหนักว่าตนเองเป็นคนมีคุณค่าเป็นที่พึ่งของลูก ระดับการศึกษา เศรษฐานะ แรงสนับสนุนทางสังคม ระดับชั้นในสังคม สถานภาพสมรส ชนิดของครอบครัว และฐานะอำนาจในครอบครัว