Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาถึงการใช้เทคโนโลยีโอโซนปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แบ่งการทดลองเป็น 6 การทดลอง ดังนี้ 1) ศึกษาปริมาณความเข้มข้นโอโซนผลิตสุทธิ 2) ศึกษาผลของความเค็มและการพ่นโอโซนที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสารประกอบไนโตรเจน 3) ศึกษาผลของความเค็มและการพ่นโอโซนที่มีผลต่อการกำจัดสีของอินทรีย์สาร 4) ศึกษาผลของสารแขวนลอยและการพ่นโอโซนต่อประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Vibrio harveyi 5) ศึกษาผลของความเค็มและการพ่นโอโซนต่อประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Vibrio harveyi และ 6) ศึกษาการใช้โอโซนเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้ง ผลการวิจัยพบว่า ที่กำลังการผลิตของเครื่องโอโซนทั้ง 3 ระดับ (8,12 และ 16 L/min) มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของปริมาณความเข้มข้นโอโซนผลิตสุทธิที่ระยะเวลา 5, 30 และ 60 นาที ที่คล้ายคลึงกันโดยมีปริมาณความเข้มข้นโอโซนผลิตสุทธิที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการพ่นที่นานขึ้น การศึกษาผลของความเค็มและการพ่นโอโซนที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสารประกอบอนินทรีย์ไนโตรเจนพบว่า ไม่มีปฏิสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ (P>0.05) ระหว่างความเค็มกับการพ่นโอโซน จึงทำการวิเคราะห์ข้อมูลแยกตัวแปร การศึกษาผลของความเค็มและการพ่นโอโซนที่มีผลต่อการกำจัดสีของอินทรีย์สาร พบว่า มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างความเค็มกับการพ่นโอโซนอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) ต่อการเปลี่ยนสีของสารอินทรีย์ในน้ำ จึงทำการวิเคราะห์ข้อมูลแยกตามระดับของความเค็มและการพ่นโอโซน
การศึกษาผลของสารแขวนลอยและการพ่นโอโซนต่อประสิทธิภาพการยับยั้งเชื่อแบคทีเรีย Vibrio harveyi พบว่าไม่มีปฏิสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ (P>0.05) ระหว่างปริมาณของสารแขวนลอยและการพ่นโอโซน จึงทำการวิเคราะห์ข้อมูลแยกตัวแปร การศึกษาผลของความเค็มและการพ่นโอโซนต่อประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย V. harveyi พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างความเค้มกับการพ่นโอโซนอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) ต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย V. harveyi จึงทำการวิเคราะห์ข้อมูลแยกตามระดับของความเค็มและการพ่นโอโซน การใช้โอโซนเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้งโดยเลี้ยงที่ระดับความหนาแน่น 40, 60 และ 80 ตัวต่อตารางเมตร ผลการวิจัยพบว่า การพ่นโอโซนช่วยทำให้เลี้ยงกุ้งที่ระดับความหนาแน่นเพิ่มขึ้นได้โดยมีค่าความเข้มข้นของไนไตร์ท ไนเตรท และแบคทีเรียรวมทั้งหมดในน้ำไม่แตกต่างกัน (P>0.05) ในการเลี้ยงที่ระดับความหนาแน่น 60 และ 80 ตัวต่อตารางเมตร สำหรับการเจริญเติบโตของกุ้งทั้งด้านน้ำหนัก ความยาว และอัตราการรอด พบว่า การเลี้ยงที่ระดับความหนาแน่น 40 และ 60 ตัวต่อตารางเมตร ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (P>0.05) ซึ่งผลจากการศึกษาในครั้งนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาระบบการบำบัดน้ำ เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยการใช้โอโซนอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากช่วยลดปริมาณการใช้ยา และเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม