Abstract:
การศึกษาคร้ังนี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ (Survey Study) เพื่อศึกษาสภาพงานและภาวะสุขภาพของทารกแรกเกิด และภาวะสุขภาพพนักงานหญิงมีครรภ์ ที่มีสภาพงานและความปลอดภัยแตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงมีครรภ์ที่ประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวม 432 คน รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เกี่ยวกับสภาพงานและความปลอดภัยในการทำงาน การฝากและดูแลครรภ์ และภาวะสุขภาพหญิงมีครรภ์ ร่วมกับบันทึกข้อมูลสุขภาพมารดาจากสมุดฝากครรภ์ และระเบียนประวัติและบันทึกข้อมูลทารกจากสมุดบันทึกการคลอดและสมุดบันทึกทารกแรกเกิด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณา จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติอ้างอิง t-test, ANOVA และ Chi-square test
ผลการศึกษาครั้งนี้ หญิงมีครรภ์มีอายุเฉลี่ย 26.3 ปี รายได้รวมของหญิงมีครรภ์และสามีเฉลี่ย 10,465 บาทต่อเดือน หญิงมีครรภ์ส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.4 ทำงานในแผนกผลิต และร้อยละ 14.96 ทำงานกับสายประกอบงานของเครื่องจักรตลอดเวลา และ ร้อยละ 59.3 นั่งทำงาน และเคลื่อนไหวเฉพาะมือตลอดเวลางาน ร้อยละ 9.7 ทำงานระบบกะ ร้อยละ 27.9 ทำงานล่วงเวลาในขณะตั้งครรภ์
หญิงมีครรภ์ร้อยละ 12.04 มีประวัติการตั้งครรภ์เสี่ยง ที่พบมาก คือ ประวัติการแท้งในไตรมาสที่ 1 หญิงมีครรภ์มีอาการแพ้ท้อง ร้อยละ 19.3 ไข้ร้อยละ 7.7 ตกเลือดทางช่องคลอดร้อยละ 2.6 และได้รับบาดเจ็บที่นิ้วมือ และมือ ร้อยละ 0.7 ไตรมาสที่ 2 แพ้ท้อง ร้อยละ 4.5 0.2 และ 0.2 ตามลำดับ ไข้ร้อยละ 8.1 ได้รับบาดเจ็บที่นิ้วมือและมือ ร้อยละ 0.96 ไตรมาสที่ 3 หญิงมีครรภ์ร้อยละ 61.9 มีอาการปวดหลัง โดยเฉพาะมีอาการปวดหลังปานกลาง และมากประมาณร้อยละ 25 อีกทั้งหญิงมีครรภ์ร้อยละ 40 มีอาการบวม โดยมีปานกลางและมาก รวมแล้วร้อยละ 10.44 และมีอาการบวมเล็กน้อยร้อยละ 30.9
ผลการตั้งครรภ์มีอายุครรภ์เฉลี่ย 39.0 ± 2.3 สัปดาห์ น้ำหนักทารกแรกเกิดเฉลี่ย 3,064 ± 462.8 กรัม คลอดโดยผ่าตัดทางหน้าท้องร้อยละ 21.2 มีอาการผิดปกติขณะคลอดมากถึงร้อยละ 2.80 โดยเฉพาะคะแนน APGAR ต่ำ และพบทารกพิการ 1 ราย เสียชีวิต 2 ราย
การศึกษาครั้งนี้พบลักษณะงาน และสภาพงานที่มีผลกระทบต่อสุขภาพหญิงมีครรภ์ และทารกในครรภ์ คือ แสงสว่างบริเวณที่ทำงานไม่เหมาะสม การทำงานบริเวณที่มีเสียงดัง มีผลกระทบต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น ในไตรมาสที่หนึ่ง สอง และสาม และการทำงานในสถานที่อุณหภูมิไม่เหมาะสม ทำให้น้ำหนักแรกคลอดของทารกต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และการทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ และในสถานที่อุณหภมิไม่เหมาะสม มีผลทำให้มีชนิดของการคลอดที่แตกต่างกัน
สำหรับผลกระทบจากระบบงานต่อสุขภาพหญิงมีครรภ์ และทารกในครรภ์ พบว่า 1) ในกลุ่มหญิงมีครรภ์ที่มีระยะเวลาการทำงานต่อวัน จำนวนวันหยุดพักผ่อน และการทำงานล่วงเวลาแตกต่างกัน มีการดูแลครรภ์และฝากครรภ์แตกต่างกัน 2) การทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และการทำงานล่วงเวลา มีผลกระทบทำให้น้ำหนักแรกคลอดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และ 3) จำนวนวันหยุดพักผ่อนมีความสัมพันธ์ต่อชนิดของการคลอดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
จากการศึกษาบ่งชี้ว่า ลักษณะงาน สภาพงานและระบบงานในโรงงานอุตสาหกรรมบางประการ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพพนักงานหญิงมีครรภ์ และทารกในครรภ์ จึงเสนอแนะให้หญิงมีครรภ์หลีกเลี่ยงการทำงานในลักษณะงาน สภาพงานและระบบงานดังกล่าว และเสนอแนะให้เจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐ กำหนดนโยบายและกลวิธีเพื่อประเมินความเหมาะสมของลักษณะงาน และความปลอดภัย และจัดสวัสดิการที่เหมาะสมแก่พนักงานหญิงมีครรภ์ และให้พนักงานหญิงมีครรภ์ทำงานในแผนกที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านระบบงาน เพื่อป้องกันผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหญิงมีครรภ์ และทารกในครรภ์